HomeMediaศึกชิงเวลา ไพร์มไทม์

ศึกชิงเวลา ไพร์มไทม์

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

ช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำหรือช่วงเวลาระหว่าง 20.00 ถึง 22.00 น. ที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “ไพร์มไทม์” นับเป็นช่วงเวลาที่ทำรายได้สูงที่สุดของโทรทัศน์มาแต่ไหนแต่ไร อันเนื่องมาจากเป็นเวลาที่ครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแล้วรับชมความบันเทิงผ่านจอโทรทัศน์ไปพร้อม ๆ กัน ถึงแม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนจากยุคอนาล็อคทีวีมาสู่ยุคดิจิตอลทีวี ช่วงเวลา ไพร์มไทม์ ก็ยังคงเป็นช่วงเวลาที่สามารถทำรายได้ให้กับช่องได้สูงที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ดิจิตอลทีวีแต่ละช่องต่างก็ทุ่มทุนหาหรือผลิตคอนเทนท์ที่คัดสรรแล้วว่าดีที่สุดมาลงในช่วงเวลานี้ เพื่อมุ่งหวังชิงเรตติ้งหรือความนิยมจากคนดูให้ได้มากที่สุด  ซึ่งประเภทรายการที่ดิจิตอลทีวีแต่ละช่องได้นำเสนอนั้นจะได้เรตติ้งเฉลี่ยไปได้มากน้อยขนาดไหนนั้น ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative ได้นำข้อมูลความนิยมในประเภทรายการที่แต่ละช่องใช้เฉพาะช่วงไพร์มไทม์ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2016 มาให้ได้ดูกัน

31

จากข้อมูลเรตติ้งเฉลี่ยการรับชมดิจิตอลทีวีของกลุ่มชาย และหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศในช่วงระหว่างเวลา 20.00 ถึง 22.00 น. ของเดือนพฤษภาคม 2016 โดยนำเรตติ้งของทั้ง Weekday และ Weekend มาหาค่าเฉลี่ยเพื่อดูความนิยมหรือเรตติ้งในแต่ละช่องพบว่า ละครไทย ยังคงเป็นคอนเทนท์ยอดนิยมอันดับหนึ่ง และเป็นหลักให้กับหลาย ๆ ช่องในการดึงคนดู อาทิ ช่อง 7 ที่ยังคงเป็นผู้นำด้วยเรตติ้งเฉลี่ย  7.248 ตามมาด้วยช่อง 3 ที่ใช้รายการประเภทละครไทยดันเรตติ้งเช่นกันด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 3.583 ในขณะที่ช่อง Workpoint TV ใช้วาไรตี้โชว์ในช่วงชั่วโมงแรก และตามด้วยละครไทยในช่วงชั่วโมงหลังช่วยดันเรตติ้งเฉลี่ยได้ 2.946 และแน่นอนว่าช่อง 8 กับช่อง One ก็ยังคงใช้ความถนัดในการผลิตละครนำละครไทยมาดันเรตติ้งเฉลี่ย ซึ่งทั้งสองช่องทำได้ใกล้เคียงกันคือ 1.379 และ 1.372 ตามลำดับ ในขณะที่ช่อง Mono29 ฉีกแนวจากที่เคยนำเสนอละครไทยมาช่วงหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จมานักจึงหันกลับมาใช้ซีรีย์ และภาพยนตร์จากต่างประเทศตามแนวถนัดแทน ซึ่งมาช่วยดึงคนดูที่ไม่นิยมดูละครไทยโดยสามารถเรียกเรตติ้งเฉลี่ยมาได้ 0.926

ช่อง Now26 เป็นอีกหนึ่งช่องกลุ่มวาไรตี้ที่ฉีกแนวจับกลุ่มที่ไม่สนใจดูละคร และความบันเทิงอื่นๆ หันมานำรายการสารคดีจากต่างประเทศเข้ามาดันเรตติ้งเฉลี่ยได้ 0.563 เช่นเดียวกับ Thairath TV หนึ่งในกลุ่มช่องวาไรตี้ที่เลี่ยงจับกลุ่มคอละคร ด้วยการเอารายการประเภทข่าวมาเป็นตัวชูโรงแทนจนได้เรตติ้งเฉลี่ยที่ 0.540 ส่วนช่อง 3 SD ใช้ซีรีย์ละครจีนมาเป็นตัวดึงเรตติ้งเฉลี่ยซึ่งทำได้ 0.537 แต่อีกไม่นานน่าจะมีการปรับผังเอาละครไทยเข้ามาร่วมสมรภูมิ หลังจากมีข่าวการพูดคุยกับผู้จัดละครรายใหญ่ ส่วนอันดับ 10 และ 11 เรตติ้งกลับมาเป็นของละครไทยฟอร์มยักษ์คับคั่งด้วยดาราดังในวันทำงานสลับกับการถ่ายทอดกีฬาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของช่อง True4U และละครไทยที่เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงานของ GMM25 แต่ก็ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้เพียง 0.489 และ 0.465 ตามลำดับ

Amarin TV ก็เป็นอีกหนึ่งช่องกลุ่มวาไรตี้ที่เลือกใช้รายการประเภทข่าวมาเป็นแม่เหล็ก ซึ่งสามารถดึงเรตติ้งเฉลี่ยได้ 0.451 ส่วนช่อง 9 ยึดสารคดีสลับกับเกมโชว์เข้ามาใช้ได้เรตติ้งเฉลี่ยไป 0.351 ตบท้ายกลุ่มช่องดิจิตอลวาไรตี้ด้วย PPTV ที่หวังแย่งชิงกลุ่มผู้ชมด้วยละครไทยเช่นกันแต่ได้เรตติ้งเฉลี่ยไปเพียง 0.275 เท่านั้น

32

มาดูทางฝั่งของข่องดิจิตอลประเภทข่าวสาร และสาระกันบ้าง ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่นิยมการเสพความบันเทิง โดยข่าวของช่อง Nation TV ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.223 ในขณะที่ช่อง New)TV เลือกที่จะเลี่ยงการใช้รายการข่าวมาชนด้วยการนำสารคดีสำรวจโลกมาใช้แทน ส่วนช่องอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ เช่น Voice TV, Spring News, Bright TV และ TNN24 ยังคงใช้ข่าวเป็นหลักแต่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอซึ่งได้เรตติ้งเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน

นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีทั้งความบันเทิง และเนื้อหาสาระให้เลือกชมกันอย่างมากมาย และหลากหลายประเภทจากช่องดิจิตอลทีวีต่าง ๆ ที่นำมาตอบสนองคนดูในช่วงไพร์มไทม์  แต่ความทุกข์ก็ตกอยู่กับดิจิตอลทีวีที่ต่างจะต้องลงทุนเพื่อแข่งขัน และสรรหาคอนเทนท์ดีๆ เด็ดๆ มาดึงดูด “เรตติ้ง” ที่จะส่งผลถึงรายได้ของช่องให้ได้มากที่สุด

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments