เกาะกระแสด้วย “มีมมาร์เก็ตติ้ง”

0
5194

บทความโดย บุญญพิลาส บุญรักษ์, Assistant Strategist, มีเดียเอเยนซี่ UM ในเครือ IPG Mediabrands

สมัยนี้หากอยากจะให้สินค้าที่เราอยากโปรโมท ติดตาติดหูลูกค้าได้นาน ๆ ต้องรีบต้องตามให้ทันกระแส เพราะด้วยเทคโนโลยี และกระแสสังคมออนไลน์ไปได้เร็วกว่าที่เราคิด บางทีแค่เพียงสัปดาห์หรือเดือนเดียวก็มีข่าวใหม่ ๆ  มากลบกระแสกันไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น กราบรถกู ดังเปรี้ยงอยู่เพียงเดือนเดียว ตอนนี้ก็ถูกกระแสครูฝึกทหารกับนักพูดสาวตามกลบไปซะแล้ว แล้วก็จะอาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเหมือนอย่างเช่นข่าวดีเจเก่งเกียร์อาร์กับวลีฮิต “คนแบบนี้สังคมแบบนี้อยู่ยากครับ” ที่บางคนก็อาจจะลืมไปแล้ว

ดังนั้นหากมีกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมในทางใดก็ตาม แล้วเรามีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าทางด้านสื่อออนไลน์ เราก็อยากจะให้สินค้าของเราเป็นที่น่าสนใจ มีคนเห็นเยอะๆ มีการพูดถึงสินค้าของเราเร็วที่สุด วิธีที่นิยมในทางออนไลน์เราเรียกกันว่า มีมมาร์เก็ตติ้ง (มีม mime ในภาษาอังกฤษ คือ แสดงล้อเลียนหรือนักแสดงล้อเลียน ตัวตลก) ซึ่งมีมทางโลกออนไลน์ คือ การกระทำหรือคำพูดที่คนคนหนึ่งกระทำขึ้นมา แล้วเกิดการเลียนแบบ และได้ถูกเผยแพร่ผ่านไปทางสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือไลน์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ให้ทุกคนได้แชร์ได้พูดถึง

ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การทำมีมมาร์เก็ตติ้งผ่านสื่อออนไลน์ของค่ายรถมินิคูเปอร์ที่ได้ออกมา   โพสต์รูปรถพร้อมแนบข้อความว่า “เราไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องกราบเราน้าาา” สร้างกระแสการแชร์ต่อหรือการพูดถึงได้อย่างดี หรือจะเป็นสายครีเอทีฟที่เกาะกระแสด้วยการทำโฆษณาชิ้นใหม่ให้กับมินิตัวนี้ด้วยภาพโฆษณารถยนต์ที่มาพร้อมระบบเบาะรองกราบรอบรถพร้อมข้อความที่ว่า “อีกขั้นของความศักดิ์สิทธ์เหนือระดับ กับระบบเบาะรองกราบรอบคัน 360 องศา ปรับระดับได้ 37,500 แรงตบ รองรับความหน้าสั่นได้ 5.5 ริกเตอร์ รอให้คุณเป็นเจ้าของแล้ว จองเลย!”

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอที่จะนำมาเป็นไอเดียในการสร้างกระแสโปรโมทสินค้าให้เกาะไปกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างความความรู้สึกเป็นกันเองเข้าถึงได้ง่าย และภาพลักษณ์ดูทันเหตุการณ์สนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการพูดถึงแบรนด์สินค้าหรือตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่น่าสนใจ  แถมทั้งยังอินเทรนด์ แต่การที่จะนำมาประยุกต์ใช้นั้น มีสิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ กระแสสังคมที่เป็นเรื่องอ่อนไหวหรือมีการเลือกข้าง มีความเสี่ยงที่จะกระทบชื่อเสียงของแบรนด์ จึงอาจไม่เหมาะกับแบรนด์สินค้าที่กำลังสร้างภาพลักษณ์ของความน่าเชื่อถือ และต้องระวังว่าเราไม่ควรซ้ำเติมต่อผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้นหากแบรนด์อยากจะเกาะกระแสก็ควรจะต้องศึกษาให้ดี และมีคุณค่าเพียงพอ มิฉะนั้นความสนุกอาจปนมากับความทุกข์ในภายหลังก็เป็นได้

 

image_2222