เจาะลึกกองเชียร์ไทยในฟุตบอลยูโร 2016

0
5086

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

ยังคงเกาะกระแสยูโร 2016 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งในฉบับที่ผ่านมาทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative ได้นำข้อมูลในเรื่องเพศ กลุ่มอายุ และความนิยมหรือเรตติ้งของการแข่งขันฟุตบอลตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบสุดท้ายของฟุตบอลยูโร 2016 ให้ผู้อ่านคอลัมน์ได้รับทราบกันไปแล้ว คราวนี้จะมาขอเจาะลึกในส่วนของผู้ชมฟุตบอลรายการนี้ทั้งในเรื่องอาชีพ และระดับรายได้กันบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนักการตลาดที่กำลังสนใจในเรื่องของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง

11

ขอย้อนไปถึงผลสำรวจความนิยมเกี่ยวกับเพศ และอายุของผู้ชมฟุตบอลยูโร 2016 ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศพบว่า เพศชายให้ความสนใจในการแข่งขันครั้งนี้ 68.29% ส่วนเพศหญิง 31.71% ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบันเพศหญิงให้ความสนใจในกีฬาประเภทนี้มากขึ้น สำหรับกลุ่มอายุที่ให้ความสนใจรับชมมากที่สุดคือ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 33% ตามมาด้วยอายุ 45 – 49 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ใกล้เคียงกับกลุ่มอายุ 40 – 44 ปีที่มี 14% ส่วนกลุ่มอายุ 35 – 39 ปีมี 12% กลุ่มอายุ 30 – 34 ปี มีอยู่ราว 7% กลุ่มอายุ 25 – 29 ปี และกลุ่มอายุ 20 – 24 ปีมีความสนใจเท่ากันที่ 5% สำหรับกลุ่มอายุ 15 – 19 ปีมีอยู่ที่ 4% ตบท้ายที่อายุ 4 – 14 ปีมีสัดส่วนรวมกันที่ 5%

12

เจาะลึกกันถึงกลุ่มอาชีพ และระดับรายได้ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า กลุ่ม Blue Collar หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่ให้ความนิยมในฟุตบอลยูโรครั้งนี้มากที่สุดในสัดส่วนสูงถึง 57%  ตามมาด้วยกลุ่ม White Collar หรือกลุ่มพนักงานออฟฟิศมีสัดส่วน 19% ตามมาด้วยกลุ่ม Student หรือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งติดตามชมฟุตบอลยูโรครั้งนี้อยู่ 10% กลุ่ม Unemployed หรือกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานติดตามเพียง 2% ส่วนกลุ่มที่ Retired หรือเกษียณอายุการทำงานแล้วมีสัดส่วนอยู่ 7% และกลุ่ม Housewife หรือกลุ่มแม่บ้านติดตามดูอยู่ที่ 5%

13

14

สำหรับระดับรายได้ของกลุ่มผู้ชมฟุตบอลยูโรในครั้งนี้ จะเห็นว่า ในกลุ่มที่มีรายได้ในระดับ Middle income ใกล้เคียงกับกลุ่ม Upper income โดยมีสัดส่วน 35% กับ 36% ในขณะที่กลุ่มรายได้ Lower income มีสัดส่วนอยู่ที่ 25% และตบท้ายด้วยกลุ่มรายได้ระดับสูงขึ้นไปมีความสนใจในการรับชมประมาณ 4% เท่านั้น

อุปสรรคของฟุตบอลจากฟากฝั่งยุโรปที่สำคัญอย่างยิ่งต่อคนไทยก็คือ “เวลา” ที่ถ่ายทอดสด ที่มักจะเป็นช่วงดึกมากของคนไทยเนื่องจากเวลาช้ากว่าไทยถึง 5 ชั่วโมง จึงทำให้เรตติ้งหรือความนิยมในการรับชมไม่สูงมากนัก และอาจจะมีผลต่อข้อมูลของผู้บริโภคอยู่บ้าง คงต้องลุ้นในช่วงฟุตบอลโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพซึ่งเวลาช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมงว่าจะสามารถสร้างเรตติ้งหรือความนิยมได้เพิ่มมากขึ้นขนาดไหน

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ทีมงานนำมาเสนอในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับนักการตลาดที่กำลังสนใจจะลงมาเล่นในตลาดสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน