10 เวปไซต์ยอดนิยมของชาวอาเชียน

0
10339

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

เพราะ “อินเตอร์เนต” ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรามากยิ่งขึ้น ทำให้ “อินเตอร์เนต” กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งการเปิดเขตการค้าเสรีอาเชียน โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากของกลุ่มนักธุรกิจไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative จึงได้รวบรวมข้อมูลในเรื่องของอินเตอร์เนตของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียมาให้ได้ศึกษากัน

61

ตารางแรกเป็นสัดส่วนของผู้ใช้อินเตอร์เนตเมื่อเทียบกับอัตราประชากร (จากการเก็บข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนมิถุนายนในปี 2016) จะเห็นว่า ประเทศสิงคโปร์มีสัดส่วนของผู้ใช้อินเตอร์เนตสูงสุดมาโดยตลอด จากในปี 2010 มีสัดส่วน 71% และจนถึงล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 82% ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเนื่องจากอัตราประชากรของสิงคโปร์มีจำนวนไม่มาก กอปรกับขนาดของพื้นที่ อันดับรองลงมาเป็นประเทศมาเลเซียมีผู้ใช้ในสัดส่วนที่เกินครึ่งของจำนวนประชากรโดยมีถึง 57% ในปี 2010 และโตขึ้นถึง 68% ในปี 2016 อันดับที่สามเป็นเวียดนามมีสัดส่วนของผู้ใช้ถึง 31% ในปี 2010 แล้วขยับขึ้นไปจนถึงเกือบครึ่งของอัตราประชากรในปี 2016 อันดับ 4 เป็นของประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วน 22% เมื่อปี 2010 แล้วค่อย ๆ เติบโตจน ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้ใช้อินเตอร์เนตอยู่ที่ 35%  แต่มีแนวโน้มว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากแคมเปญการแจกสมาร์ทโฟนของโอเปอเรเตอร์ค่ายต่าง ๆ ที่ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เนตเพิ่มสูงขึ้น ถัดมาเป็นประเทศลาว ซึ่งเปลี่ยนระบบการปกครองมาไม่นานนัก และกำลังเร่งพัฒนาประเทศจึงทำให้มีสัดส่วนผู้เข้าถึงเพียง 14% ส่วนอีกสองประเทศในกลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจอาเชียนคือ กัมพูชา และเมียนม่าร์ มีสัดส่วนการเข้าถึงที่ไม่มากนัก โดยกัมพูชาในปี 2016 มีเพียง 9% ในขณะที่เมียนม่าร์ที่เพิ่งเปลี่ยนระบบอบการปกครอง และเปิดประเทศมาไม่นานมีสัดส่วนการใช้อินเตอร์เนตในปี 2016 เพียง 2% ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศเท่านั้น

62

มาดูกันว่า แต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนนิยมการท่องเวปไซต์ไหนกันบ้าง จะเห็นว่า เวปไซต์ Search Engine อย่าง อGoogle ได้รับความนิยมอย่างสูงจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น  ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนม่าร์ ส่วนเวปไซต์ที่ให้ความบันเทิงประเภท TV & VDO อย่าง Youtube ก็ได้รับความนิยมสูงอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา และประเทศไทยที่ติดอันดับ 1 และ 2 ในขณะที่ Social Network ยอดนิยมของทั่วโลก Facebook ก็เป็นเวปไซต์ที่คนเวียดนามเข้ามากที่สุด รองลงมาคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในขณะที่ประเทศไทยเองติดอันดับที่ 3 เท่านั้น ส่วนประเทศเมียนม่าร์ที่เพิ่งเปิดเสรีใหม่ ๆ มีคนชืนชอบใน Facebook เป็นอันดับที่ 4 และถึงแม้ประเทศกัมพูชาจะมีเสรีภาพในการเสพสื่อมากกว่าประเทศเมียนม่าร์แต่ความนิยมใน Facebook กลับต่ำสุดในกลุ่มอาเชียน

เจาะลึกถึงการเข้าใช้เวปไซต์ของกลุ่ม CLMV ซึ่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเชียนกลุ่มนี้ถือเป็นทำเลทองแห่งใหม่ที่นักธุรกิจไทยต่างสนใจเข้าไปลงทุน และศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เริ่มจากข้อมูลของประเทศกัมพูชา (Cambodia) การใช้เวปไซต์ในอันดับต้น ๆ ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ นักกล่าวคือ นิยมการเข้าเวปไซต์ Youtube และ Google ส่วนที่ได้รับความนิยมสูงติดอันดับ 4 คือ Sabay.com.kh ซึ่งเป็นเวปไซต์ประเภท Portal ส่วนเวปไซต์ Khmerload.com และ Khmer-note.com เป็นเวปไซต์กลุ่มที่ให้ความบันเทิง (Entertainment Website) สำหรับ Kohsantepheapdaily.com.kh เป็นเวปไซต์ของหนังสือพิมพ์ในกัมพูชา ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 9 คือ Freshnewsasia.com เป็นเวปไซต์ข่าวสั้นบนมือถือ และเดสก์ท็อป และอันดับสิบคือ Khmeread.com เป็น Communication website ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนชาวกัมพูชา

สำหรับประเทศเมียนมาร์ (Myanmar) ซึ่งเพิ่งเปิดประเทศมาไม่นาน และยังมีการเข้าถึงระบบอินเตอร์เนตน้อยที่สุดในกลุ่มนี้ จะเห็นว่า เวปไซต์ยอดนิยมไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ มากนัก ที่แปลกแตกต่างคือ Blogspot และ Blogger ซึ่งเป็นพิ้นที่สำหรับคนพม่าได้เข้ามาแสดงสิทธิเสรีภาพ และขายสินค้ากัน ส่วน Imyanmarhouse.com เป็นเวปไซต์ในด้านการหาอสังหาริมทรัพย์ สำหรับ Adf.ly และ Pcloud.com จะเป็นเวปไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการฝากไฟล์ต่าง ๆ

ตบท้ายด้วย ประเทศเวียดนาม (Vietnam)  จะเห็นถึงความนิยมในเวปไซต์ประเภทข่าวค่อนข้างสูงติดกลุ่ม Top 10 มากถึง 3 เวปไซต์ ได้แก่ Zing.vn, Vnexpress.net และ 24h.com.vn ส่วนเวปไซต์ Coccoc.com เป็นเวปไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ Internet &Telecommunication และ mp3.zing.vn เป็นเวปไซต์ทางด้านบันเทิงของประเทศเวียดนาม

ข้อมูลที่นำมาเสนอในครั้งนี้ น่าจะพอเป็นแนวทางสำหรับนักการตลาดที่กำลังมองหาช่องทางในการเข้าถึง และโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่มประเทศการค้าเสรีอาเชียนโดยผ่านระบบอินเตอร์เนต เพราะสินค้าของประเทศไทยหลาย ๆ ชนิดได้รับความนิยมในกลุ่มอาเชียน