เรียลลิตี้ แรงต้นแผ่วปลาย

0
4941

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

ดูเหมือนว่า กระแสความนิยมหรือเรตติ้งรายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ และคอนเทสต์โชว์ของคนไทยจะตกลงไปในทุกๆ ปี อาจจะเป็นเพราะผู้บริโภคเริ่มอิ่มตัวกับรายการประเภทนี้หรืออาจเป็นเพราะไม่จำเป็นต้องรอดูแบบสดๆ แล้วแต่หันไปดูรายการย้อนหลังผ่านอุปกรณ์อื่นๆ แทน จึงทำให้ค่าความนิยมหรือเรตติ้งรายการประเภทนี้ต่ำลงไปเรื่อยๆ  ความเคลื่อนไหวทางด้านเรตติ้งหรือค่าความนิยมของแต่ละรายการที่ออนแอร์กันอยู่เป็นอย่างไรบ้างนั้น ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative ได้รวบรวมข้อมูลการรับชมรายการประเภทเรียลลิตี้ และคอนเทสต์โชว์ตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2015 ของกลุ่มผู้ชมรายการทั้งชาย และหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศมานำเสนอ

11

เริ่มจากวิกช่องสามพระรามสี่ที่เป็นรายแรกที่นำรายการเรียลลิตี้รูปแบบอินเตอร์เข้ามาออนแอร์ และมีรายการประเภทนี้เยอะที่สุด เริ่มจาก รายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ ที่เริ่มออนแอร์ซีซั่นแรกก็สร้างความฮือฮาได้ค่อนข้างมากสามารถทำเรตติ้งเฉลี่ยได้ถึง 5.6 พอเข้าปีที่สองกระแสคนติดตามยังไม่ตกสามารถกระชากเรตติ้งเฉลี่ยขึ้นไปได้ถึง 7.8 แต่เมื่อเข้าสู่ซีซั่นที่สามกระแสความนิยมเริ่มตกลงเหลือ 6 แล้วเหลือ 5.4 ในซีซั่นที่สี่ แล้วในซีซั่นล่าสุดตกลงเหลือเรตติ้งเพียง 3.3 เท่านั้น

อีกรายการที่อยู่มาถึง 4 สมัยอย่าง เดอะ วอยซ์ เสียงจริงตัวจริง เปิดซึซั่นมาด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 5.7 ขยับขึ้นมาเป็น 6.4 ในซีซั่นที่สอง แล้วตกลงเล็กน้อยในซีซั่นที่สามด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 5.7 และ 4.5 ในซีซั่นล่าสุดที่ผ่านมา ตามมาด้วย แดนซ์ยัวร์แฟตออฟหรือเต้นเปลี่ยนชีวิต ที่มีถึงซีซั่นสามแล้วก็มี    เรตติ้งเฉลี่ยในซีซั่นแรกที่ 3.5 เข้าปีที่สองตกลงมาเล็กน้อยเหลือ 3.2 และตบท้ายปีล่าสุดด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 2.3

รายการ เดอะวินเนอร์ อีส ประเดิมออนแอร์ครั้งแรกในปี 2014 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยที่ 4.4 แล้วตกลงมาเหลือเพียง 2.6 ในปีล่าสุด เช่นเดียวกับ เดอะเฟซไทยแลนด์ ที่เปิดตัวซีซั่นแรกในปี 2014 ด้วย       เรตติ้งเฉลี่ย 2.3 และมาปีนี้ใช้กลยุทธ์การโปรโมทผ่านโซเชียลเนตเวิร์คเป็นหลักเรียกแฟนๆ เข้าชมเรียลลิตี้ได้ไม่แพ้ปีที่เปิดตัวโดยมีเรตติ้งเฉลี่ยจบที่ 2.2 และเรียลลิตี้โชว์ที่เป็นน้องใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวในปี 2015 ได้แก่ ฮิดเด้น ซิงเกอร์หรือเสียงลับจับไมค์ เปิดตัวได้เรตติ้งไป 2.1 ซึ่งก็ต้องจับตาดูถึงวิธีการที่จะสร้างกระแสให้กับรายการใหม่ๆ ว่าจะสามารถเรียกเรตติ้งได้มากกว่าหรือใกล้เคียงของเดิมได้อย่างไร

12

มาทางฝั่งหมอชิตดูเหมือนว่า รายการประเภทเรียลลิตี้จะไม่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นแดนซ์ซิ่ง วิธ เดอะ สตาร์ ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2013 ได้เรตติ้งเฉลี่ยที่ 2.4 เท่านั้นพับฐานไปในปีต่อมา ส่วน The Comedian เปิดตัวเมื่อปี 2013 ได้เรตติ้งเฉลี่ยที่ 3.3 พอเข้าสู่ซีซั่น 2 ตกลงมาเหลือเพียง 2.6 แล้วย้ายไปประกวดกันต่อซีซั่น 3 ในเคเบิลทีวี  ส่วนเรียลลิตี้การต่อสู้อย่าง มาเชียล วอริเออร์ เปิดตัวมาในปี 2014 ได้เรตติ้งที่ไม่ดีนักเพียง 1.4 เท่านั้นเป็นอีกรายที่พับฐานไปในที่สุด สุดท้ายคือ คีพ ยัวร์ ไลท์ ไชน์นิ่ง สตาร์ หรือร้องสู้ไฟ ซึ่งมีรูปแบบเป็นการประกวดแข่งขันร้องเพลงในรูปแบบใหม่เปิดตัวในปี 2014 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 2.3 ถือว่าไม่แย่นักแต่ก็ยุติการทำรายการในปีต่อมาเช่นกัน และในปี 2015 ช่อง 7 เองก็ได้นำรายการ ดรีมทีมไทยแลนด์ดาราเฮโย ออกมาชิมลางตลาดเรียลลิตี้ของช่อง 7 อีกครั้งซึ่งก็ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้ 2.3

ช่องเจ็ดเลือกที่จะถอดรายการเรียลลิตี้เสาร์อาทิตย์ออกหลายรายการ แล้วไปทำรายการ Stand Still Thailand ซึ่งออนแอร์ในทุกๆ วันก่อนละครเย็น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2016 นี้ช่องใหญ่อย่างช่องสามจะยังคงมีเรียลลิตี้ให้รับชมอย่างต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างยากที่จะมีเรียลลิตี้ใหม่ๆ เข้ามาเพราะดูเหมือนว่าคนไทยเริ่มอิ่มตัวกับรายการประเภทนี้ไปแล้ว ซึ่งดูได้จากยอดเฉลี่ยเรตติ้งที่ตกลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ช่อง 7 ถึงแม้จะมีเรียลลิตี้เลิกราไปหลายรายการ แต่ก็มีเกิดใหม่สวนทางเข้ามาเช่นกัน ส่วนอันดับสามอย่างเวิร์คพอยท์ที่เป็นเจ้าของรายการเรียลลิตี้หลายๆ รายการ ในปีนี้ดูเหมือนว่าจะรุกตลาดเรียลลิตี้มากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้นำรายการ เล็ท มี อิน ซึ่งเป็นเรียลลิตี้การเปลี่ยนแปลงด้วยการทำศัลยกรรมที่โด่งดังของเกาหลี และรายการ ไอ แคน ซี ยัวร์ วอยซ์ เข้ามาเสริมทัพ คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เรียลลิตี้ จะยังคงเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงเรตติ้งให้ช่องได้อีกหรือไม่