คุณค่า และแตกต่าง ทางรอดของสื่อหนังสือพิมพ์

0
5068

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันสื่อประเภทอินเตอร์เนตเติบโตอย่างต่อเนื่องในขณะที่สื่อดั้งเดิมเริ่มลดบทบาทลง คราวนี้มาถึงสื่อดั้งเดิมอย่าง “สื่อหนังสือพิมพ์” ซึ่งเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญเป็นอันดับสองรองจากสื่อโทรทัศน์ โดยในปี 2015 มียอดรวมการซื้อสื่อที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งนี้ทีมงาน Strategy & Innovation ของ initiative คาดว่าต่อจากนี้ไป “สื่อหนังสือพิมพ์” จะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ เนื่องจากอิทธิพลของสื่อออนไลน์ และดิจิตอลทีวีที่นำเสนอข่าวกันชนิดละเอียดยิบ และทันเหตุการณ์จนแทบไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์กันเลยทีเดียว

21

หากย้อนกลับไปดูถึงรายได้ในปีที่ผ่าน ๆ มาเพื่อดูถึงความเคลื่อนไหวของตลาดโฆษณาสื่อหนังสือพิมพ์เริ่มตั้งแต่ปี 2010 พบว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 19,970 ล้านบาท ถัดมาในปี 2011 มียอดรวมการซื้อสื่อตกลงไปเล็กน้อยอยู่ที่ 19,367 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนลดลง 3% ซึ่งเหตุที่ตกลงไม่มากนักน่าจะเป็นเพราะในปีนี้มีหนังสือพิมพ์แทปลอยด์แจกฟรีเกิดใหม่ชื่อ M2F ที่ได้ออกมาช่วยเพิ่มยอดรายได้ให้กับกลุ่มหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังกระตุ้นให้หนังสือพิมพ์ประเภทแทปลอยด์แจกฟรีเกิดใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ส่งผลถึงรายได้ในตลาดหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นในปี 2012 อีก 4% เป็น 20,047 ล้านบาท และต่อเนื่องมาถึงปี 2013 ที่มีการเติบโตขึ้นอีก 4% หรือเป็นมูลค่า 20,749 ล้านบาท แล้วฟองสบู่ในการเติบโตของแทปลอยด์แจกฟรีก็มาแตกลงในปี 2014 จนทำให้รายได้ของกลุ่มหนังสือพิมพ์ลดลงไปถึง 11% หรือมีมูลค่ารวมลดลงอยู่ที่ 18,373 ล้านบาทเท่านั้นแล้วยังลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 17,489 ล้านบาทในปี 2015 และมีแนวโน้มว่า จะยังคงลดลงเรื่อยๆ  เนื่องเพราะคนเริ่มหันไปอ่านหนังสือพิมพ์หรือข่าวบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น

เมื่อเจาะลึกถึงข้อมูลรายได้ที่หายไปของการซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับของปี 2014 เทียบกับปี 2015 พบว่า หนังสือพิมพ์รายวันในกลุ่มข่าวทั่วไปมีรายได้ที่ลดลงโดยทั่วหน้า สอดคล้องกับตัวเลขที่หายไปในตลาดสื่อโฆษณา โดยหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายอันดับ 1 ทั่วประเทศอย่าง ไทยรัฐ มีรายได้ลดลง 15% เดลินิวส์ และผู้จัดการรายวัน มีรายได้ที่ลดลง 21% เท่ากัน คมชัดลึก ลดลง 18% และข่าวสด ลดลงที่ 11% ในขณะที่หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจรายได้ลดลงในสัดส่วนไม่มากนัก โดย กรุงเทพธุรกิจ มีรายได้ลดลง 3% และ โพสต์ทูเดย์ ลดลงไป 2% ส่วนหนังสือพิมพ์เฉพาะทางอย่าง สยามกีฬา มีรายได้ลดลง 3% สำหรับกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมีเพียงแทปลอยด์แจกฟรีอย่าง M2F มีรายได้เพิ่ม 29% และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ เพิ่มขึ้น 4%

และเมื่อดูข้อมูลล่าสุด ซึ่งเปรียบเทียบการซื้อสื่อโฆษณาหนังสือพิมพ์เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายนของปี 2015 กับช่วงเดียวกันของปี 2016 พบว่า ติดลบไปแล้วถึง 16% หรือหายไปถึง 884 ล้านบาท โดยหากพิจารณาหนังสือพิมพ์เป็นรายเล่มจะเห็นถึงการลดลงที่ชัดเจน ในกลุ่มหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไป ไทยรัฐ มีรายได้ลดลงไป 26% เดลินิวส์ ลดไป 29% ผู้จัดการรายวันรายได้ลด 38% ข่าวสด ก็ลดลง 11% ส่วนกลุ่มหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอย่าง กรุงเทพธุรกิจ ติดลบไป 2% โพสต์ทูเดย์ ลดลงไปถึง 21% เลยทีเดียว หนังสือพิมพ์สยามกีฬา ลดลงไปถึง 16% ส่วนหนังสือพิมพ์แทปลอยด์ที่ปีที่แล้วมีรายได้รวมเป็นบวกอย่าง M2F ก็มีตัวเลขของรายได้ที่ติดลบเช่นกัน โดยลดลงไป 1%  เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ รายได้ลดไปถึง 24%

22

รายได้ของหนังสือพิมพ์ในปี 2016 ที่ลดลงมีผลมาจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมในการเสพข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ไปสู่ข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากกราฟอัตราส่วนการอ่านข่าวออนไลน์ปี 2015 เทียบกับกราฟของปี 2016 จะเห็นว่า อัตราส่วนการอ่านข่าวออนไลน์ของผู้บริโภคในทุกกลุ่มอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี และกลุ่มอายุ 30 – 39 ปีที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องเพราะสามารถเสพข่าวหรือสามารถติดตามข่าวที่อยู่ในความสนใจได้จากสมาร์ทโฟน แทปเล็ต หรือจากคอมพิวเตอร์บนเวปไซต์ต่างๆ  ได้อย่างง่ายดาย และทันทีทันควัน

23

และเมื่อดูถึงอัตราส่วนการเติบโตของการบริโภคสื่อออนไลน์โดยแบ่งตามภูมิภาคในปี 2015 เทียบกับปี 2016 จะเห็นว่า การเสพข่าวออนไลน์ของกลุ่มผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่มีการเติบโตสูงขึ้นเท่าตัว ซึงเป็นไปตามความก้าวหน้าของระบบอินเตอร์เนต และระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กลุ่มต่างจังหวัดยังมีการเสพข่าวออนไลน์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามคาดว่าจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และจากแคมเปญแจกสมาร์ทโฟนฟรีของโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือ น่าจะทำให้การบริโภคสื่อออนไลน์ของกลุ่มคนในต่างจังหวัดเติบโตขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลถึงยอดขายหนังสื่อพิมพ์ประเภทข่าวทั่วไปที่ลดลงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะทำให้ สื่อหนังสือพิมพ์ อยู่รอดได้คงไม่ใช่เพียงแค่การขายความสดใหม่ของข่าวอีกต่อไป เนื่องเพราะผู้บริโภคสามารถหาอ่านได้ตามสื่อออนไลน์หรือในเวปไซต์ต่าง ๆ แต่คงต้องฉีกแนวหาวิธีการนำเสนอข่าวคราวที่เน้นวิเคราะห์เจาะลึกมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญคือ ข่าวหรือบทความที่มีอยู่บนสื่อหนังสือพิมพ์ต้องเป็นบทความเฉพาะของสื่อนั้น ๆ ที่ไม่สามารถจะหาอ่านได้บนสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างคุณค่า และความแตกต่างให้กับสื่อหนังสือพิมพ์นั่นเอง