ทำอย่างไรให้คอนเทนต์บนโลกดิจิตอลโดนใจได้ไปต่อ

0
4082

3 กลยุทธ์ที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้

 

ในโลกยุคดิจิตอล 4.0 บนสังเวียนการแข่งขันที่ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ไม่สามารถมองข้ามเทรนด์ Disruptive Technology ไปได้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT), Augmented Reality (AR), Big Data, Cloud, Artificial Intelligence (AI), หรือ Blockchain ต่างเป็นสิ่งที่มาเร็ว ไป (ข้างหน้า) เร็ว อยู่ที่ความพร้อมของเหล่าธุรกิจ ว่าจะสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาแบรนด์ของตนได้อย่างไร การที่ตลาดพัฒนาเร็ว ย่อมทำให้ธุรกิจที่ก้าวไม่ทันโลกเกิดปัญหา นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Disruption หรือการหยุดชะงัก ขณะที่เรากำลังก้าวตามให้ทันโลกด้วยการบูรณะหรือยกเครื่องหลังบ้านใหม่ การประชาสัมพันธ์ธุรกิจหรือแบรนด์ (Public Relation หรือ PR) ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าและบริการเกิดความจงรักภักดี (Brand Loyalty) 

จากผลสำรวจ  “Global Digital 2019” โดย We Are Social และ Hootsuite พบว่าจากจำนวนประชากรทั่วโลกกว่า 7.8 พันล้านคน มากกว่าครึ่งเข้าถึง “อินเทอร์เน็ต – โซเชียลมีเดีย” และในบรรดาจำนวนผู้ใช้ Social Network ทั้งหมด กว่า 3.2 พันล้านคนมีการใช้งาน “อินเทอร์เน็ต – โซเชียลมีเดีย” ผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับประเทศไทย จากจำนวนประชากรในปัจจุบันกว่า 69.2 ล้านคน มีผู้บริโภคถึง 49 ล้านคน ที่ใช้ Social Media ผ่านโทรศัพท์มือถือ 

Digital Thailand Jan 2019

การประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ที่ให้ผลดี มีประสิทธิภาพ มาจาก “คอนเทนต์” ที่โดนใจและจดจำได้โดยผู้บริโภค บทความนี้จะกล่าวถึง 3 กลยุทธ์ง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ นำไปสู่การจดจำแบรนด์ และยอดขายที่เพิ่มขึ้น

  1. ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมการ “ฆ่าเวลา” ของผู้บริโภค ด้วยคอนเทนต์และภาพที่น่าจดจำ

คนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยถึง 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน โดยใช้เวลาดูข่าวสารข้อมูล แชร์ แชท และอื่นๆ บน Social Media ประมาณ 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน* ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานในตอนเช้าหรือกลับบ้านในตอนเย็น ส่วนใหญ่พวกเขาจะ “ฆ่าเวลา” ด้วยการท่องโลกออนไลน์ นี่เป็นโอกาสที่เราสามารถเข้ายึดพื้นที่การท่องโลกออนไลน์ด้วยคอนเทนต์ที่กระชับ เสริมด้วยภาพที่น่าจดจำ จากงานวิจัยของ ดร. Jennifer Aake นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาพบว่าบุคลิกของแบรนด์มีอยู่ 5 มิติหลักๆ สื่อออกมาเป็นสีต่างๆ ได้แก่ 

  • สีน้ำเงินคือความไว้วางใจ 
  • สีแดงคือความตื่นเต้นเร้าใจ 
  • สีเหลืองคือการมองโลกในแง่บวก สดใสร่าเริง 
  • สีส้มคือความสนุก มั่นใจ สร้างสรรค์ และกระตือรือร้น 
  • สีเขียวคือการรักธรรมชาติและคืนความสดชื่นกลับมา 

ดังนั้นการสร้างคอนเทนต์แบบกระชับ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคหรือเป็นการกล่าวถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือภาพรวม ไม่พูดถึงสินค้าแบบ Hard Sell จะสามารถสร้าง Activation จับจองพื้นที่ในความทรงจำของผู้บริโภคได้ หากคอนเทนต์เหล่านั้นมีภาพประกอบโดยใช้สีที่สะท้อนอัตลักษณ์และบุคลิกของแบรนด์ (Corporate Identity and Brand Character) ก็จะเป็นวิธีการทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์หรือสินค้าได้ สุดท้ายอาจะเพิ่มลูกเล่นด้วยตัว Mascot ที่มาจาก Persona ของแบรนด์ (หมายถึงถ้าเป็นคน แบรนด์นี้คือใคร) และเลือกที่จะ tie in สินค้าหรือบริการของเราเข้าไปหรือไม่ก็ได้

  1. “สร้างภาพ” ผนวกคอนเทนต์ ให้สมองสองซีกของผู้บริโภคทำงานพร้อมกัน

การประชาสัมพันธ์แบรนด์หรือสินค้าและบริการไม่ใช่การเขียนเรื่องสั้นหรือนิยาย แน่นอนว่าผู้บริโภคจะไม่เสียเวลาอ่านคอนเทนต์ยาวๆ ที่มีแต่ตัวหนังสือเยอะๆ กลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ จะสร้างความเพลิดเพลิน พร้อมความจดจำให้กับผู้บริโภคคือการใช้ Visual Content ประเภท Infographic ซึ่งเป็นการนำเอาคอนเทนต์ที่เข้าใจยากมาย่อยให้ผู้บริโภคก่อน และนำเสนอหรือเล่าเรื่องผ่านภาพ ทำให้ผู้บริโภคใช้งานสมองสองซีกพร้อมกัน กล่าวคือสมองซีกซ้ายผู้บริโภคจะสามารถจดจำข้อมูลตัวเลข ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ประมวลความคิดเป็นเหตุเป็นผล ตามลำดับขั้นตอน และใช้จินตนาการและจดจำข้อมูลด้วยรูปภาพผ่านทางสมองซีกขวานั่นเอง สำหรับ Infographic มีทั้ง Still Infographic (แบบภาพนิ่ง) Motion Infographic (องค์ประกอบบางส่วนเคลื่อนไหวได้) และ VDO Infographic (แบบวิดีโอ) ใน Infographic ไม่ควรมีคอนเทนต์เกิน 20%-30% ของรูปภาพ และล่าสุด Infographic 360° เป็นลูกเล่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับตอบโจทย์แอพลิเคชั่น Facebook 360° ที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ สร้างลูกเล่นดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาดูข้อมูล เสมือนเข้าไปอยู่ในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมนั้นจริงๆ

  1. เปลี่ยน “วิชาการ” ให้เป็น “วิชากลาง”

วิธีนี้ใช้ได้กับกลุ่มเป้าหมายแบบ B2B ได้แก่องค์กรภาคธุรกิจ หรือ B2C ได้แก่ผู้บริโภค สำหรับกลุ่มเป้าหมายแบบ B2B ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือเจ้าของธุรกิจโดยส่วนใหญ่จะไม่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ดังนั้นข้อมูลที่กลุ่มเป้าหมายมองหา คือซื้อสินค้าหรือบริการนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร โดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างไร สามารถเพิ่มกำไรให้องค์กรได้เท่าไหร่ ส่วนผู้บริโภคจะมองหาจุดเด่นของสินค้า โปรโมชั่น ส่วนลด หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ดังนั้นคอนเทนต์ที่เป็นวิชาการ เข้าใจยาก อาทิคอนเทนต์ด้านไอที เศรษฐศาสตร์ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จะต้องถูกนำมาย่อย และปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงศัพท์เฉพาะ (Jargon) หรือศัพท์ทางเทคนิคต่างๆ (Technical Term) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และอธิบายด้วยข้อมูลหรือภาพที่ใกล้เคียงกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม การใส่ คิวอาร์ โค้ดหรือลิงค์ของเว็บไซต์ถือเป็นวิธีที่สามารถสร้าง Traffic ไปยังเว็บไซต์ และยังสามารถเก็บข้อมูลผู้สนใจสินค้าและบริการ (Lead) เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้อีกด้วย

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนมืออาชีพ เพียงใช้ 3 กลยุทธ์ง่ายๆ นี้ คอนเทนต์ของท่านก็จะอยู่ในใจผู้บริโภคยุคดิจิตอล ทำให้แบรนด์ไปต่อได้ ในยุคที่คอนเทนต์เจ๋งๆ ครองเมือง

หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสื่อสารการตลาดในยุคดิจิตอล สามารถติดต่อมาได้ที่ [email protected] ทางเรายินดีให้คำปรึกษาค่ะ 

ไอ-คอนเนกต์

Treesukhon.Kraiphanont

ตรีสุคนธ์ ไกรพานนท์

ผู้จัดการส่วนภาพลักษณ์องค์กร (Corporate Communication Group Head)

บริษัท IPG Mediabrands Thailand

*จากผลสำรวจ “Global Digital 2019” โดย We Are Social และ Hootsuite

ขอขอบคุณบทความจาก  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 31  | ฉบับ 3500 ระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2562 และ หน้า 31  | ฉบับ 3504 ระหว่างวันที่ 12 – 14  กันยายน 2562