บิ๊กสื่อกังวล ปัจจัยลบ ฉุดมีเดียนิ่ง

0
4021

ไอพีจี เผยสถานการณ์สื่อโฆษณาน่ากังวลจากปัจจัยลบรอบด้าน ขณะที่ไฮซีซันยังนิ่ง ส่งผลทั้งปีไร้การเติบโต ย้ำเอเยนซียึดเกณฑ์ใช้เม็ดเงินตามผลิตภัณฑ์แบรนด์ 

ดร. ธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ในปีนี้ค่อนข้างน่ากังวลอย่างมากสำหรับธุรกิจโฆษณา อย่างที่ทราบกันดีว่าตัวเลขเม็ดเงินสื่อโฆษณาจะสอดคล้องไปกับ GDP ของประเทศ และในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติสถานการณ์ต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ ไวรัสโคโรนาและต่อเนื่องด้วยปัญหาทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และในความเป็นจริงแล้วในช่วงเดือนมีนาคมเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจโฆษณา แต่เมื่อเจอปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างต้นแล้วเชื่อว่า ในปีนี้เม็ดเงินในสื่อโฆษณาไม่น่าจะเติบโต

ขณะเดียวกันในด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เอเยนซียังให้ความสำคัญกับเรื่องของเรตติ้งเช่นเดิม และยังยึดเกณฑ์การซื้อสื่อโฆษณาไม่แตกต่างจากอดีต นั่นคือ การเลือกช่องโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก จากนั้นจึงค่อยกระจายการใช้เงินไปยังสื่อช่องโทรทัศน์อื่นๆ ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ลูกค้า และในช่วงที่ผ่านมาจากข้อมูล Ariana พบว่าช่องโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก คือ 1.ช่อง 7 2.ช่อง 3 3.โมโน 29 4.เวิร์คพอยท์ทีวี 5.ช่องวัน 31 6.ไทยรัฐ  7.อมรินทร์ทีวี 8.ช่อง 8 9.เนชั่นทีวี 10. MCOT

“ในอดีตหลักเกณฑ์การใช้เงินทั่วไปของเอเยนซีจะใช้เงินในสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก และให้นํ้าหนักสัดส่วนของเม็ดเงินกว่า 80-90% ไปกับช่อง 7 และช่อง 3 แต่ปัจจุบันต้องกระจายการใช้เงินไปยังสื่อต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญของการทำงานเอเยนซี อย่างไรก็ตามก็ยังยึดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เป็นสำคัญ เช่น กลุ่มเป้าหมาย คอนเทนต์ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น”

1583235221_5

ดร. ธราภุช จารุวัฒนะ

ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มยานยนต์ 8,447 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ติดลบ 6% จากที่ปี 2561 มีการใช้เม็ดเงินที่ 9,020 ล้านบาท 2.กลุ่มสกินแคร์ 6,657 ล้านบาท ติดลบ 1% เทียบช่วงเดียวกัน 6,726 ล้านบาท 3.กลุ่มสื่อสาร (Communication) 5,035 ล้านบาท ติดลบ 27% อยู่ที่ 6,891 ล้านบาท 4.ธุรกิจบริการ เช่น แอพพลิเคชันต่างๆ 4,790 ล้านบาท เติบโต 1% อยู่ที่ 4,737 ล้านบาท 5.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ 4,188 ล้านบาท ติดลบ 10% อยู่ที่ 4,644 ล้านบาท

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาแม้การใช้เม็ดเงินสื่อออนไลน์จะเติบโตอย่างมาก แต่หลังจากนี้จะชะลอการเติบโตลดลง เนื่องจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังเป็นกลุ่มเดิม และในปี 2561 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาที่นิยม คือ 1.เฟซบุ๊ก จำนวนเงิน 4,941 ล้านบาท 2.Youtube 2,931 ล้านบาท 3.Google (Search) 1,651 ล้านบาท 4.Line จำนวนเงิน 1,195 ล้านบาท 5.ทวิตเตอร์ จำนวนเงิน 135 ล้านบาท

ด้านภาพรวมของ IPG บริษัทมองว่าปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคของข้อมูลอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะกับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งนั้นข้อมูลถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งไอพีจีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้ทำการเปิดบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Reprise พร้อมกับแผนก Data and Analytics ซึ่งการมีบริษัทนี้ หรือ Data เข้ามาสามารถช่วยให้วางแผนการซื้อสื่อและโปรโมตโฆษณาได้แม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทได้เพิ่มจำนวนพนักงานจากอดีต 5 ปีย้อนหลังมีพนักงานแค่ 120 คนแต่ปัจจุบันบริษัทเพิ่มจำนวนเป็น 300 คน

 

ที่มา: หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563