‘เจริญ’ฮุบ’อมรินทร์’ พยุงธุรกิจขาดทุนหนัก

0
5262

“ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ใช้เงิน 850 ล้าน เข้าถือหุ้นใหญ่ “อมรินทร์” 47.62% เตรียม 3 ตัวแทนนั่งบอร์ด “อุทกพันธุ์” ยอมเปิดทางหลังขาดทุนต่อเนื่อง

Test
นางวรรณี รัตนพล

หลังกลุ่มสิริวัฒนภักดี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นใหญ่ อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ซึ่งอยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และทีวีดิจิทัล สะท้อนถึงอุตสาหกรรมสื่อที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งต้องแบกภาระการลงทุนสูง จากทีวีดิจิทัล ที่ประมูลมาด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท

นางเมตตา อุทกพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวานนี้ (25พ.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 200 ล้านบาท เป็น 419,999,865 บาท

โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี บุตรนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น 47.62% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท

สาเหตุเนื่องจากบริษัทประสบภาวะผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 ก.ย.59 ของบริษัทมีอัตราที่สูง 4.32 เท่า

หนุนฐานะแกร่งหนี้เหลือ2.5เท่า

“สถานะการเงินจะแข็งแกร่งขึ้น หลังการเพิ่มทุน จะทำให้บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินดีขึ้น โดยประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน จะลงเหลือ 2.5 เท่า” นางเมตตากล่าว

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องใช้เงินทุน ที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่อยู่ ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น

บริษัทยังมีแผนใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในต้นปี 2561 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจทีวีดิจิทัล แข่งขันสูง บริษัทจึงเห็นว่า การมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุน และมีความเชี่ยวชาญดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้

ให้ส่วนลดราคาหุ้นทุนใหม่43%

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการยังมีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทให้แก่บุคคลในวงจำกัด โดยกำหนดราคาเสนอขายที่มีส่วนลด 43.11% ซึ่งต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้น และต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนรวมทั้งจะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash)

โดยบริษัทระบุว่า ผู้ซื้อจะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทไม่เกิน 3 คน และไม่มีแผนที่จะเพิกถอนหุ้นของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารจัดการ โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างทางการเงินของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ

โดยบริษัทกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่1/2560 ในวันที่ 10 ก.พ.2560

กสทช.แจงไม่ขัดกฎหมาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้นอมรินทร์ฯ ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นในอัตราส่วน47.62%ซึ่งบริษัท อมรินทร์ฯ ถือเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของ กสทช. ในช่องอมรินทร์ทีวี โดยจากกรณีดังกล่าวการเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตยังเป็นบริษัท หรือ นิติบุคคลเดิมอยู่ เพียงแต่หลังจากนี้ทางอมรินรินทร์ทีวี ต้องมีการแจ้งมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่

สิ่งพิมพ์ขาลง-ทีวีแข่งดุเหตุขายหุ้น

นางวรรณี รัตนพล อุปนายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) และประธานบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ อมรินทร์ ขายหุ้น มาจากอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ธุรกิจหลักอยู่ในภาวะ “ขาลง” โดยเฉพาะเงินโฆษณาในสื่อนิตยสาร ที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง10ที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ25% ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วง2-3ปีนี้ ที่ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราสูง นิยมเสพสื่อและข้อมูลผ่านออนไลน์

ที่ผ่านมา อมรินทร์ ต้องการปรับตัวและขยายธุรกิจจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไปสู่สื่อทีวีดิจิทัล โดยบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัทในเครือ เป็นผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล เอชดี ด้วยราคาใบอนุญาต 3,320 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ในปี 2557 ถือเป็น “จังหวะไม่ดี” เนื่องจาก3ปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ที่มีจำนวนฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจาก ยุคทีวีอนาล็อก และการขยายตัวของสื่อออนไลน์ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาฟรีทีวี “ไม่ได้”เพิ่มขึ้น ตามจำนวนช่องทีวีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ “ลดลง” ส่งผลกระทบต่อการหารายได้โฆษณาสื่อทีวี ที่มีการลงทุนคอนเทนท์สูง

สะท้อนได้จากตัวเลขโฆษณาล่าสุดที่รายงาน โดยนีลเส็น ประเทศไทย ช่วง10 เดือน(ม.ค.-ต.ค) ปีนี้ มีมูลค่า 92,175 ล้านบาท ลดลง 9.36% โดย ทีวีอนาล็อก มูลค่า 40,807 ล้านบาท ลดลง 15.31%,ทีวีดิจิทัล มูลค่า 17,627 ล้านบาท ทรงตัว,นิตยสาร มูลค่า 2,510 ล้านบาท ลดลง 29.43% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

“ไทยเบฟ”ยึดช่องทางสื่อสารแบรนด์

นางวรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันไทยเบฟ มีบริษัท ทศภาค จำกัด ซึ่งเป็นเอเยนซี ดูแลการสื่อสารอยู่แล้ว การเข้ามาซื้อหุ้น อมรินทร์ ที่มีธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัล รวมทั้งการจัดกิจกรรมอีเวนท์ จะทำให้ไทยเบฟ มีช่องทางการสื่อสารแบรนด์และธุรกิจในเครือครบวงจร โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มนอน แอลกอฮอล์ ที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง

“การเข้ามาถือหุ้นของทายาทไทยเบฟ ในอมรินทร์ ถือเป็นการร่วมมือที่ดีกับทั้ง2ฝ่าย เพราะ อมรินทร์ จะมีแหล่งทุนมากขึ้น ส่วนไทยเบฟ มีช่องทางสื่อสารแบรนด์ในเครือผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และทีวี”

จับตาปีหน้า3-4ช่องหาทุนใหม่

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าทีวีดิจิทัล เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ทั้งต้นทุนคงที่ ค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่ายส่งสัญญาณ เฉลี่ยปีละ230ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการผลิตคอนเทนท์ เฉลี่ยปีละ600-800ล้านบาท ดังนั้นต้นทุนเฉลี่ยช่องวาไรตี้ น่าจะอยู่ที่600-1,000ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาฟรีทีวี กระจายตัวจากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงส่งผลต่อการหารายได้ของทีวีดิจิทัลในช่วง3ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นที่ใช้เงินลงทุนสูง

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลประกอบการของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในภาวะขาดทุน เชื่อว่าปีหน้าจะมีทีวีดิจิทัลอีก3-4ช่อง ต้องดำเนินการเพิ่มทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจของแต่ลช่องว่าจะออกมาแบบใด เพื่อนำเงินทุนมาดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล และจ่ายค่าใบอนุญาตอีก3งวดที่เหลือ หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อ

นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่าผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล “ช่องใหม่” เป็นกลุ่มที่ใช้เงินลงทุนสูงกว่าช่องฟรีทีวีเดิม และช่องทีวีดาวเทียม ขณะที่การแข่งขันสูงและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มีรายได้เพียง30%ของรายจ่าย100%ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีภาระต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่เหลืออีก3งวด ดังนั้นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จึงต้องหาเงินทุนใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม เพื่อต่อลมหายใจและดำเนินธุรกิจต่อ