ถ้าไม่พูดคำว่าเหนื่อย…จะพูดคำว่าอะไรดี?

0
3336

น้องคนนึงที่ทำงานโพสต์ถามใน FB

เป็นคำถามชวนคิดที่เกิดขึ้นจริงที่พวกเรารับรู้ได้จากการ WFH มานาน จากงานวิจัยพบว่าผลเสียของการ WFH ทางด้านจิตใจทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว (isolated) ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัว สุดท้ายคือ Burnout ที่เรามักจะได้ยินบ่อยที่สุด

จริง ๆ แล้วสภาพเหนื่อย เครียด หรือ Burnout มันคืออะไรกันแน่ และเราอยู่จุดไหนกันแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เราควรรับรู้เพราะ Self-awareness เป็นเหมือนกุญแจสำหรับการหาวิธีรับมือได้ถูกต้อง วันนี้เลยไป research เรื่องนี้มาฝากกัน

เราเครียดเบอร์ไหนกันแล้ว

  1. Honeymoon Phase: เกิดขึ้นเมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ ๆ หรือเริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรก เราจะรู้สึกตื่นเต้น มีพลัง เต็มไปด้วยไอเดียบรรเจิด แต่สิ่งที่แถมมาด้วยคืออาการเบื้องต้นของการ Burnout ในช่วงนี้เราจะเริ่มสังเกตถึงความเครียดเล็ก ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ

  • ความรู้สึกรับผิดชอบ (Commitment)
  • แรงผลักดันทางใจที่จะทำงาน
  • ความไหลลื่นทางความคิดสร้างสรรค์
  • รู้สึกได้ถึงพลังงานในตัว
  • ตื่นเต้น ใจเต้นแรง
  1. Onset of Stress: เริ่มที่จะเครียด ในช่วงนี้เราจะรู้สึกว่าเริ่มมีวันหนัก ๆ เกิดขึ้น พลังบวกเริ่มถดถอย สังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางกาย ทางความคิดและทางอารมณ์

สภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ

  • ความวิตกกังวล
  • เพลีย
  • หลงลืม
  • ความดันขึ้นสูง ปวดหัว ไม่อยากอาหาร
  • ไม่สามารถโฟกัส
  • ไม่อยากคุยกับใคร
  1. Chronic Stress: เมื่อความเครียดเริ่มสะสมในระดับสูงขึ้นและถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าหมดไฟ กำลังกายกำลังใจถดถอย

สภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ

  • โกรธ
  • ไม่มีอารมณ์ทางเพศ
  • หวั่นวิตกง่าย (panic)
  • ตื่นเช้ามาร่างการเพลียเลย
  • ของขึ้นใส่คนรอบข้างบ่อย ๆ
  • ดื่มคาเฟอีนเยอะขึ้น
  • งานหลุด เดดไลน์หลุด
  • ร่างกายป่วยจริงจัง
  1. Burnout: รู้สึกได้ว่าร่างกายและอารมณ์เราไม่เหมือนเดิมแบบชัดเจน และแทบไม่สามารถควบคุมได้

สภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ

  • ไม่อยากหยิบจับทำอะไร
  • รู้สึกว่างเปล่าในใจ
  • มองงานที่กำลังอยู่ในเชิงลบ
  • สงสัยในตัวเอง
  • ปวดหัว ปวดท้องเรื้อรัง
  • ไม่สนใจความต้องการของตัวเอง
  • พฤติกรรมเปลี่ยนชัด

เมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยู่ตรงไหน เราก็ต้องแก้ ต้องเริ่มจัดการกับตัวเอง อย่าปล่อยให้ลงลึกไปเรื่อย ๆ หรือที่ลึกไปแล้วก็ดึงกลับขึ้นมาหน่อย บทความหนึ่งจาก Harvard Business Review แนะนำวิธีรับมือกับการทำงานแบบ WFH เพื่อลดปัญหา burnout ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น

  • หาช่วงเบรกสั้น ๆ ในแต่ละวันเพื่อ restock พลังงาน เช่น ปิดคอมออกไปเดิน หาอะไรทาน แอบงีบ
  • เอามือถือไว้ไกล ๆ ตัว ตั้งใจว่าจะไม่จับในหนึ่งช.ม.นี้ ปิดมือถือตอนเข้านอน
  • ในเวลาเลิกงาน ให้ทำกิจกรรมที่เรารักวนไป จะดู Netflix ก็ดูยาว ๆ ไป (แต่อย่านอนดึก คหสต.) เรียนภาษาเกาหลี ออกไปวิ่ง ทำขนมปัง เลี้ยงแมว ช้อปออนไลน์
  • ลาหยุดไปเลย เราไม่ค่อยได้ใช้วันลาในช่วงนี้ วันลาเหลือเพียบ ลองจัดการตารางงานแล้วขอหัวหน้าลาพักเพื่อนอนนิ่ง ๆ ทั้งวันบ้าง
  • หาความหมายของการทำงาน บอกตัวเองว่าที่เราทำงานหนักอยู่เพื่ออะไร เพื่อใคร จะทำให้เราไปต่อได้และสู้กันไปได้อีกนิด เอารูปคนๆ นั้นเป็น wallpaper

ในฐานะหัวหน้างาน ผู้บริหาร และพี่สาว รู้นะว่าช่วงนี้หลายคนรู้สึกดาวน์ หมดไฟ burnout และไม่มี career passion อย่างที่เคย อยากให้รู้ว่าคุณไม่ได้เป็นคนเดียว พี่ก็เป็น (ฮา) (จะบอกให้หันไปมองข้าง ๆ ก็ไม่ได้เพราะเรา WFH อยู่) อยากให้รู้ว่าเป็นกันทั้งนั้นแหล่ะ ทั้งประเทศ เรายังโชคดีที่มีงาน (เยอะ) แปลว่างานมั่นคง (มาก) เราทำงานหนักเพราะเราเป็นคนที่มีความสำคัญ ฉันเก่งน่ะสิหัวหน้าและลูกค้าถึงมอบงานให้ฉันจัง เราเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคนที่เรารักที่พึ่งพาเราอยู่ ถ้าเราโสด ทำงานคนเดียว เราก็จะทำงานเหนื่อยเพื่อเก็บเงินไว้เยอะ ๆ เพื่อไปซื้อความสุข ซื้อไลฟไตล์ที่เรารัก เดี๋ยวก็เสาร์ อาทิตย์แล้ว เดี๋ยวก็เงินเดือนออกแล้ว เดี๋ยวโบนัสก็จะออกแล้ว

เชื่อว่า WFH ทำให้ชีวิตเราเป็นแบบนี้ ถ้าโควิดดีขึ้น เราก็จะได้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ได้ออกไปกินข้าวกลางวันและแวะตลาดนัดใต้ตึก แอบแวบลงมากซื้อชานมกินตอนบ่าย ได้ตั้งวงเม้ามอย(หัวหน้า) กับเพื่อน ๆ ชีวิตสนุก ๆ ในวันวานจะกลับมา แข็งใจไปต่อกันอีกหน่อยนะพวกเรามนุษย์เงินเดือน

ถึงตอนนี้ ไม่อยากจบบทความนี้ด้วยการหยิบสโลแกนทีมฟุตบอลทีมนี้มาเลยว่า You’ll Never Walk Alone

คุณดิว อินทปัญญา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายวางแผนกิจกรรม


เกี่ยวกับเอนเซมเบิล

Ensemble (เอนเซมเบิล) คือ Creative Content Agency (ครีเอทีฟ คอนเทนต์ เอเยนซี่) ภายใต้ IPG Mediabrands Thailand (ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย) ซึ่งดำเนินธุรกิจทางด้านความคิดสร้างสรรค์สำหรับเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการผลิตรายการโทรทัศน์ โดยมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการใช้เครื่องมือต่างๆ ในธุรกิจออนไลน์ เอนเซมเบิลทำงานร่วมกับทีมวางแผนกลยุทธ์และนวัตกรรม (Strategy & Innovation) เพื่อเข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภค ทำให้เอนเซมเบิลเป็นครีเอทีฟ คอนเทนต์ เอเยนซี่ที่มีประสิทธิภาพและโดดเด่น ทั้งยังจะเป็นครีเอทีฟ คอนเทนต์ เอเยนซี่รายแรกในประเทศไทยที่มีการผสานการใช้ Big Data (ฐานข้อมูลขนาดใหญ่), Insight (ข้อมูลเชิงลึก) และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับแบรนด์