พฤติกรรมนักช้อปออนไลน์ (2)

0
4604

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

ยังคงตามติดกับธุรกิจการค้าออนไลน์หรือ E-Commerce ในประเทศไทย ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ได้ประเมินว่า E-Commerce แบบ B2C ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 474,648 ล้านบาท และในปี 2559 น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ข้อมูลในเรื่องพฤติกรรมนักช้อปออนไลน์ของคนไทยเป็นที่สนใจของนักการตลาดทั้งเก่า และใหม่อย่างมาก และในฉบับนี้ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของนักช้อปออนไลน์มาให้ได้อ่านกันต่อเนื่อง

51

จากบทความที่แล้วจะเห็นว่า จากผู้ตอบแบบสอบถาม 10,434 คนมีจำนวนถึง 64.9% ที่นิยมซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ กลุ่มคนเหล่านี้ชอบซื้อสินค้า/บริการอะไรกันบ้าง ซึ่งพบว่า สินค้า Fashion goods อาทิ เสื้อผ้า,รองเท้า,กระเป๋า,เครื่องประดับ มาเป็นอันดับแรกด้วยจำนวน 42.6% ตามมาด้วยสินค้าประเภท IT เช่น คอมพิวเตอร์,โทรศัพท์มือถือ, แทปเล็ต มีสัดส่วน 27.5% สินค้ากลุ่ม Healthy and beauty อาทิ เครื่องสำอางค์, ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย, อาหารเสริม มีการซื้ออยู่ที่ 24.4% กลุ่ม Tour/travel ประกอบด้วย การจองตั๋วเพื่อการท่องเที่ยวรถหรือเครื่องบิน, การจองรถเช่า ตามมาใกล้เคียงกันที่ 23.2% กลุ่ม Downloading service อาทิ ริงโทน, เพลง, ภาพยนตร์, เกมออนไลน์ มีสัดส่วนถึง 21% และอื่น ๆ เช่น การซื้ออาหาร, การซื้อหนังสือ, การจองคอร์สเพื่อเรียนต่าง ๆ , การจ่ายบิลค่าบริการต่าง ๆ  ซึ่งในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 13%

ส่วนวิธีชำระค่าสินค้า/บริการออนไลน์นั้น จากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่เคยซื้อสินค้า/บริการออนไลน์เลือกการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยการโอนผ่านบัญชีธนาคาร 65.5% ผ่านระบบเอทีเอ็ม 31.2% และผ่านเครดิตการ์ด 26.4%

52

อย่างไรก็ตามถึงแม้ความนิยมในการซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์จะมีเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่บ้าง คือ ผู้ขาย/ให้บริการส่งสินค้าล่าช้า 58.7% สินค้าไม่เหมือนที่โฆษณาหรือที่เห็นในเวปไซต์ 29.9% และสินค้าเสียหาย 24% ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การค้าออนไลน์ไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น

จากบทความครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวช่วย และช่องทางที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังสนใจทำธุรกิจออนไลน์ที่จะได้รับทราบถึง พฤติกรรม และความสนใจของผู้บริโภคที่นิยมซื้อของออนไลน์ อีกทั้งปิดจุดอ่อนหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง