โซเชียลมีเดีย และแอพฯ เพื่อนใหม่ของคนโฆษณา

0
5735

บทความโดย วาสนา เทพสืบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนสื่อโฆษณา ยูเอ็ม มีเดียเอเยนซี่ ในเครือ ไอพีจี มีเดีย แบรนด์ส

ในขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค “ออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ” ซึ่งสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันกว่า 80% ส่งผลให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้รับข้อมูลที่หลากหลาย และรวดเร็วมากขึ้น ความสนใจในเนื้อหาต่างๆ มีระยะเวลาที่สั้นลง เพราะยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่พร้อมจะดึงความสนใจไปได้ตลอดเวลา อีกทั้งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ก็สามารถสร้างความต้องการแบบ Right Here Right Now ได้เช่นกัน ดังนั้นนักการตลาด และนักวางแผนโฆษณาจึงต้องรู้จักที่จะหาลูกเล่นใหม่ ๆ มาดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ได้ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
และเมื่อคนยุคใหม่หันมาใช้ “โซเชี่ยลมีเดีย” มากขึ้น นักการตลาด และนักวางแผนสื่อโฆษณาจำเป็นที่จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคขณะนั้นคืออะไร เทรนด์ไหนที่กำลังได้รับความนิยม และความจริงที่อยู่ในใจของผู้บริโภคคืออะไร เพราะผู้บริโภคไม่ได้บอกทุกสิ่งที่เขาคิดให้เรารู้ การเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคในยุคออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเมื่อผู้บริโภคนั้นได้รับข้อมูลอย่างล้นหลามจากทุกช่องทางตลอดเวลา และยิ่งท้าทายขึ้นอีกเมื่อบางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้นจะมีอายุยืนยาวได้สักกี่วัน ยกตัวอย่างให้เห็นกันง่าย ๆ อย่างเช่น ตุ๊กตาลูกเทพ ที่กลายเป็นกระแสจากการเผยแพร่เรื่องราวผ่านโซเชี่ยลมีเดียจนได้รับความนิยมแพร่หลาย และถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างเพียงข้ามวัน แต่ไม่ทันจะพ้นเดือนกระแสลูกเทพกลับเงียบหายไปราวกับไม่เคยมีอยู่มาก่อน นี่เป็นกรณีตัวอย่างแรกแต่เป็นเคสที่ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า ความสนใจของผู้บริโภคต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นสั้นลงทุกที
ย้อนกลับมาที่สื่อออนไลน์กันอีกครั้ง การผนวก “สื่อออนไลน์เข้ากับโซเชียลมีเดีย” น่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดสำหรับนักวางแผนโฆษณาในการเพิ่มช่องทางการโฆษณา เนื่องจากเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถระบุถึง อายุ เพศ สถานที่ หรือความสนใจของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตให้มีโอกาสได้เห็นภาพยนตร์โฆษณาผ่าน เฟซบุค อินสตราแกรม และยูทูป เป็นต้น หลังจากที่ความนิยมในการดูทีวีลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้กลุ่ม KOL (key opinion leader) หรือ influencer ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับคนโฆษณา ในการแฝงรายละเอียดสินค้าหรือเพิ่มความน่าสนใจให้กับแคมเปญโดยประเมินจากจำนวนการกดไลค์ แชร์ คอมเม้นท์ หรือ followers ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการรับโฆษณาแฝง
ในขณะที่ แอพพลิเคชั่น อย่าง “ไลน์” หนึ่งเดียวในดวงใจของคนไทยที่เป็นเสมือนเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งใช้ในการคุยธุรกิจซึ่งช่วยลดช่องว่างในการสื่อสาร และต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม จะเห็นว่าทั้ง “โซเชียลมีเดีย และแอพพลิเคชั่น” เป็นเสมือนเพื่อนซี้คนใหม่ของคนโฆษณาในการบอกต่อเรื่องราว และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อในกระแสโซเชียล แต่แบรนด์ก็ต้องเตรียมแผนการรับมือ เนื่องจากการกระแสโซเชียลมีทั้งบวก และลบ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะเชื่อทางลบมากกว่าทางบวกซะด้วย