มีรายงานว่า ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2020 ที่ผ่านมานี้ TikTok มีจำนวนบัญชีผู้ใช้งานสูงถึง 18 ล้านบัญชี เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบัญชีผู้ใช้งานในเดือนเมษายน ปี 2019 ถือว่า TikTok มีอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มแบบก้าวกระโดดสูงถึง 85% นอกจากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความหลากหลายของกลุ่มผู้ใช้ TikTok ก็มากขึ้นด้วย จากเดิมความนิยมของ TikTok เคยจำกัดอยู่แค่ในกลุ่ม Gen Z (อายุประมาณ 5 – 25 ปี) แต่ปัจจุบันความนิยมของแพลตฟอร์มนี้ได้ขยายสู่กลุ่ม Gen Y (อายุประมาณ 26 – 40 ปี) มากขึ้น แม้พฤติกรรมการใช้งานของทั้งสองกลุ่มอาจแตกต่างกัน โดยกลุ่ม Gen Z ยังคงเป็นกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่เข้ามาผลิตเนื้อหา (Content) ในขณะที่กลุ่ม Gen Y ส่วนใหญ่เลือกคงสถานะความเป็นผู้ชม และเสพความบันเทิงจาก Content ต่างๆ
ที่มา: เว็บไซต์ Similarweb
จุดเด่นในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างและแชร์วิดีโอสั้นๆ นี้ ทำให้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับรูปแบบของเอฟเฟกต์สำเร็จรูปต่างๆ เช่น สติกเกอร์ (Sticker) และเพลงประกอบวิดีโอ ทำให้ผู้ใช้สนุกไปกับการสร้างสรรวิดีโอตามที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย และหลากหลายกว่าทุกแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียที่เคยมีมา TikTok จึงดึงดูดผู้คน และสร้างเนื้อหาที่เกิดจากผู้ใช้ มาไว้บนพื้นที่ของแบรนด์หรือที่ใดๆ ก็ตาม (Consumer Generated Content – CGC) ได้รวดเร็วง่ายดาย เป็นที่มาของคนดังบน TikTok หรือ TikTok Star ซึ่งเกิดขึ้นได้กับใครก็ตามที่สามารถสร้างเนื้อหาโดนใจบนแพลตฟอร์มนี้ ในชั่วข้ามคืน
การให้ความสำคัญกับ Content มากกว่ายอดไลก์หรือจำนวนผู้ติดตาม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ TikTok Star หน้าใหม่ สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มอื่น เนื่องจากระบบจะเลือกแสดง Content โดยแทรกไประหว่างการแสดงวิดีโอยอดนิยมต่างๆ บนหน้าฟีดเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับชมหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ชมอื่นๆ ให้กับผู้สร้าง Content ด้วย แต่ถ้าวิดีโอใดมีคนสนใจก็จะถูกแสดงต่อผู้ชมในวงที่กว้างขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนที่เห็นโพสต์ที่ผู้สร้างเนื้อหาได้โพสต์บนแพลตฟอร์ม โดยไม่รวมจากการลงโฆษณา (Organic Reach) พบว่า TikTok มีค่าเฉลี่ยของ Organic Reach สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
ที่มา: https://influencermarketinghub.com/tiktok-stats/
การให้ความสำคัญกับ Content นี้ ยังส่งผลให้ผู้ชมได้เห็นคลิปวิดีโอสนุกๆ จากผู้สร้างเนื้อหาที่หลากหลาย ทำให้ Content ใน TikTok มีความโดดเด่น เข้าถึงได้ง่าย เป็นเสน่ห์ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น และการไหลเข้ามาของผู้ใช้งานที่เป็นคนดัง (Celebrity) รวมทั้งผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Online Influencer) ทำให้ตัวแพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ดึงดูดความสนใจของนักสื่อสารการตลาด ให้เข้ามาใช้ตัวแพลตฟอร์มทำแคมเปญหรือกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้นด้วย
ด้านยูเอ็ม ประเทศไทย (UM Thailand) มองว่า TikTok เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจอย่างมากในการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจาก UM Thailand ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์แล้ว พบว่า 3 จุดเด่นที่สำคัญของ TikTok ในการสื่อสารการตลาด คือ
- TikTok สามารถดึงดูดให้เกิดเนื้อหาแบบ CGC ได้ง่าย
- เนื้อหาบน TikTok มีความสดใหม่ รวมถึงเนื้อหาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงผู้บริโภคแบบท้องถิ่น (Local) ได้ดี
- คาดการณ์ว่าในปี 2021 จำนวนบัญชีผู้ใช้งาน TikTok จะมียอดผู้ใช้ถึง 50 ล้านบัญชี ส่วนอัตราการเติบโตของ TikTok จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัวในปี 2024 ซึ่งคาดการณ์ว่า ในขณะนั้นบัญชีผู้ใช้งานจะสูงถึง 60 ล้านบัญชี
ดังนั้น TikTok จึงเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ สำหรับการสื่อสารการตลาดอย่างมาก โดยปัจจุบันทาง UM Thailand ได้ใช้ TikTok ในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับแบรนด์ (Consumer Engagement) ให้กับแคมเปญของลูกค้าหลายรายที่ผ่านมา โดยเราเลือกวางกลยุทธ์ทั้งบนตัวสื่อและแพลตฟอร์มของ TikTok เอง และบนหน้า TikTok ของ Online Influencer ต่างๆ เพื่อจุดพลุให้กับกิจกรรมทางการตลาด ประกอบกับการใช้ Celebrity ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในโซเชียล มีเดีย แพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง (Mass Target) ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญมากขึ้น และเนื่องจากตัวกิจกรรมบน TikTok เองถูกออกแบบมาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ (Target Audience) สามารถร่วมกิจกรรมได้ง่าย รวมทั้งมีมูลค่าความบันเทิงในงานด้านการตลาด (Entertainment Value) ของตัวแพลตฟอร์ม TikTok เอง ด้วยการใช้เพลงประกอบที่มีจังหวะสนุกสนาน ถูกจริตคนไทย ทำให้ตัวคลิปแคมเปญที่เราทำให้กับลูกค้าถูกเผยแพร่ออกไปนอกแพลตฟอร์มมากขึ้น ส่งผลให้แคมเปญได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และสร้างการรับรู้ให้กับแคมเปญของลูกค้าของเรา
แต่หากพูดถึงธรรมชาติของแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย ที่มีเกิด…ก็มีดับแล้ว ส่วนใหญ่ความนิยมของผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leader – KOL) แต่ละคน ก็มักจะจำกัดอยู่แค่ในตัวแพลตฟอร์ม TikTok เท่านั้น เนื่องจาก TikTok KOL ส่วนมากเป็นบุคคลทั่วไปที่มีชื่อเสียงเฉพาะใน TikTok ซึ่งชื่อเสียงของพวกเขายังไปไม่ถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ดังนั้นแคมเปญที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้น จึงยังจำเป็นต้องมี KOL กลุ่ม Celebrity หรือ Online Influencer ที่มีจำนวนผู้ติดตามในโซเชียล มีเดียอื่นๆ มาช่วยเชื่อมระหว่างโลกของ TikTok และมวลชน (Mass Audience) บนโซเชียล มีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย
นักเขียน
คุณพิมอุมา เจนธรรมนุกูล
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ยูเอ็ม (ประเทศไทย)
เกี่ยวกับ ยูเอ็ม
ยูเอ็มเป็นมีเดียเอเยนซี่ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เราให้บริการด้วยปรัชญาการผสานศาสตร์และศิลป์ เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า ด้านศาสตร์ เราใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Business Analytics) และยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก (Data Intelligence) แบบเรียลไทม์ ด้านศิลป์ เราสร้างช่วงเวลาที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ เป็นที่จดจำผ่านสื่อ ยูเอ็มเป็นมีเดียเอเยนซี่ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อยู่ในเครือไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ปัจจุบันมีสาขาอยู่ในกว่า 100 ประเทศ มีพนักงานกว่า 5,000 คน ดูแลแบรนด์ระดับโลกอย่าง Accenture, American Express, BMW, ExxonMobil, , Sony, Spotify, Netflix, Nestle และ Telenor www.umww.com
เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส
IPG MEDIABRANDS คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน130ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน
เรามีการให้บริการแบบครบวงจรในทุกมิติของการเป็น Agency ระดับโลกโดยภายในเครือข่ายของ IPG Mediabrands นั้นรวมไปถึงบริษัทสำหรับการวางแผนสื่อและการตลาดชั้นนำอย่าง UM, Initiative และ BPN และกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลและการวิจัยอย่าง Cadreon, Healix, Identity, IPG Media Lab, MAGNA, Orion Holdings, Rapport และ ดิจิทัลเอเจนซี่อย่าง Reprise www.ipgmediabrands.com.