เทรนด์หลักเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหลัง COVID-19

0
5247

เห็นได้ชัดว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง สถิติพฤติกรรมผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ขณะที่ยอดขายอาหารในร้านอาหารลดลง 66% และในเดือนเมษายน ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคก็ยังติดลมบน เพิ่มขึ้น 8% จากยอดขายเฉลี่ย ส่วนยอดขายอาหารในร้านยังลดลง 48% แต่นั่นเป็นเพียงสติถิในช่วงการระบาดของไวรัส

แล้วหลังจากนี้ล่ะ…พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด Harvard Business Review วิเคราะห์ 3 เทรนด์หลักที่จะเป็นปัจจัยส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ได้แก่

1.Work from Home (ทำงานที่บ้าน)

การทำงานแบบ Work from Home จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น Google อนุญาตให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านได้จนถึงปี 2021 ส่วน Jack Dorsey, CEO ของ Twitter ใจดียิ่งกว่า อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ตลอดไป ซึ่งจากการสำรวจ CFO ในหลายบริษัทบอกว่า พวกเขาวางแผนที่จะให้พนักงานทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น 20% เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าส่วนใหญ่พนักงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้ เป็นพนักงานที่มีฐานเงินเดือนสูง (High-income worker) เท่านั้น

x1

2.Dinner for One (ทานอาหารคนเดียว ใช้ชีวิตคนเดียว)

มาตรการ Social distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) ทำให้ร้านอาหารต้องปรับรูปแบบการจัดร้านใหม่ โดยมีการเว้นระยะระหว่างโต๊ะ หรือหนึ่งโต๊ะหนึ่งคน แต่อิทธิพลของ Social distancing ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น ยังส่งผลไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย ทำให้คนอยากอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งจากสถิติพบว่า หลังเกิดภัยพิบัติหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ อัตราการเกิดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีคนเคยกล่าวว่า “ถ้าคุณกำลังหนีเอาตัวรอด, คุณก็คงไม่มีอารมณ์มานั่งคิดถึงเรื่องมีลูกหรอก”

x2

3.Don’t Be Dense (เว้นระยะห่างกันสักนิด)

การเว้นระยะห่างทางสังคมกลายเป็นเรื่องปกติ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการส่งอาหาร การให้บริการ Drive-thru ของร้านอาหาร และร้านขายสินค้าทั่วไป (ไม่ใช่เฉพาะร้าน Fast Food) นอกจากนี้ Social distancing ยังทำลายรูปแบบการทำงานในอดีต โดยเปลี่ยนจากการทำงานในออฟฟิศ หรือ Co-Working Space มาเป็นทำงานที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ รวมท้ังธุรกิจโรงเรียน และมหาวิทยาลัยก็อาจสูญเสียรายได้ไปด้วย

x3

ดังนั้นนักลงทุนและผู้ประกอบการควรรีบหากลยุทธ์ใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ 3 เทรนด์นี้ เพราะกลยุทธ์แบบเก่าคงใช้ไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้หากพูดถึงการสื่อสารการตลาดที่เหมาะสมหลัง COVID-19 โดยเฉพาะประเทศไทย คาดว่าผู้บริโภคชาวไทยก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเช่นกัน จะสังเกตได้ว่า ในช่วงการระบาดของCOVID-19 อัตราการเติบโตของกิจกรรมบนโลกออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น การดูทีวีออนไลน์ หรือจากผู้ให้บริการ Video Streaming Service การสั่งอาหารออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ การสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast-moving consumer goods – FMCG) ผ่านหน้าเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชั่น การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ หรือแม้แต่การถ่ายและอัพโหลดวิดีโอ ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อความบันเทิง ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการในประเทศไทยควรคำนึงถึงเรื่องการสื่อสารการตลาดบนโลกออนไลน์เป็นหลักในช่วงหลัง COVID-19 เพราะคนไทยเริ่มคุ้นชินกับเทรนด์การทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้นแล้ว

 


แปลและเรียบเรียงโดย

Pic Writer

นางสาวสุดาภรณ์ โอบอ้อม

เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร

ที่มา: https://hbr.org/2020/05/3-behavioral-trends-that-will-reshape-our-post-covid-world?ab=hero-subleft-3&fbclid=IwAR2trvCrmAYm3yizd3n63-JV_PbznokFbYmy1-hb5bOEfBJ-utohiYn5ZnY