ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย กับครั้งแรกของการนำเสนอผล “CONTENTOLOGY” เป็นการศึกษาเชิงลึก ที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ของพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนท์ ของคนสามกลุ่มใหญ่ในยุคปัจจุบันนี้
การนำเสนอผลวิจัยในครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบของ “Storytelling” ที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เธียเตอร์ 8 (Paragon Cineplex Theater 8) ตั้งแต่เวลา 10.00 ถึง 12.30น เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่าพฤติกรรมการเสพสื่อของคนสามกลุ่มใหญ่ คือ Gen X, Gen Y และ Gen Z มีความแตกต่างทางความคิดและมุมมองกับแต่ละคอนเทนท์อย่างไรกันบ้าง และสำหรับแบรนด์ที่ต้องการจะสื่อสารกับคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ จะต้องเตรียมตัวรับมือกับวิวัฒนาการของการผลิตคอนเทนท์ที่แตกต่างกันไปอย่างไร เพื่อให้เกิดการเข้าถึง โดนใจ และเพื่อเป้าหมายการเกิด Brand Relevance ในชีวิตของกลุ่มคอมซูเมอร์ต่างๆได้อย่างลงตัว
การศึกษา CONTENTOLOGY โดยกลุ่มไอพีจี ฯ ในครั้งนี้ ได้มีการเจาะลึกเข้าไปถึงมุมมองต่างๆต่อรูปแบบคอนเทนท์ตามความนิยมของผู้บริโภค หรือที่เรียกกันในแวดวง การตลาดว่า “Passion Points” ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มคอนเทนท์ตามความชอบของคอนซูเมอร์ได้มากกว่า 20 เรื่อง โดยในงานจะหยิบยก 4 คอนเทนท์หลักที่เป็นที่นิยมสูงสุดมานำเสนอ คือ “ดราม่า กีฬา อาหาร และ ดนตรี” (Drama, Sports, Food & Music) รวมถึงเจาะลึกตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับช่องทางในการเข้าถึงคอนเทนท์ โดยเฉพาะโมบาย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในงานนี้ยังมีกูรูผู้คร่ำหวอดในการสร้างคอนเทนท์รูปแบบต่างๆ มาร่วมสนทนาและให้ความคิดเห็นอีกด้วย อาทิเช่น คุณยุทธนา บุญอ้อม (ป๋าเต็ด) คุณอภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข (สแตมป์) คุณทรงยศ สุขมากอนันต์ (ย้ง) และกูรูในคอนเทนท์สาขาต่างๆอีกมากมาย

นายธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ทุกๆคอนเทนท์ ที่ถูกผลิตขึ้นมาล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในศาสตร์ของการเล่าเรื่องชนิดหนึ่ง ในรูปแบบของ “Storytelling” ซึ่งจุดตั้งต้นของการสร้างคอนเทนท์ที่ดี คงไม่พ้นเรื่องความเข้าใจในความเป็น “คน” และ นำ “Moments” ต่างๆเข้ามาเสริมเพื่อให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เป็นการผสมผสานระหว่าง Arts & Sciences จึงจะสามารถสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค (Consumer Experience) และเติมเต็มจุดเชื่อมต่อต่างๆที่แบรนด์ต้องการจะเข้าถึงหัวใจของคนกลุ่มนั้น ใน moments ที่ใช่ และในช่วงเวลาเหมาะสมและสัมผัสได้จริง

นายสร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มวางแผนกลยุทธ์ และนวัตกรรม (Strategy & Innovation) ได้เปิดเผยว่าสมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มเอเจนซี่ นักโฆษณา รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าต่างหันมาทำ Content Marketing กันอย่างมากมายจนกลายเป็น Standard Practice ของอุตสาหกรรมการตลาดกันไปแล้ว แต่ก็อดตั้งคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วมันมีสูตรสําเร็จในการผลิตคอนเทนท์ที่โดนใจผู้บริโภครึเปล่า?
“การสร้างคอนเทนท์ที่ดี ไม่มีสูตรสำตายตัว แต่ที่แน่ๆ มีสามปัจจัยสำคัญในการสร้างคอนเทนท์ที่ดี คือ ความรู้ (Knowledge) จากการศึกษาตลาดต่างๆ กลุ่มผู้บริโภค โดยนักวิจัย นักวางแผนกลยุทธ์ ความชำนาญ (Knowhow) ของครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์ และ ผู้กำกับ และ ประสบการณ์ (Experience) ของนักการตลาดและนักสร้างแบรนด์ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก กล้าคิดกล้าลองทำรูปแบบต่างๆ ให้เกิดการพูดถึงในกลุ่มคนดูมาแล้ว”

นางสาวดิว อินทปัญญา กรรมการผู้จัดการ เอ็นเซ็มเบิล (Ensemble) กล่าวว่ายุคของการผลิต Creative Long-form หรือ Short-form content ใกล้จะหมดแล้ว และเราต้องเข้าใจคอนซูเมอร์ให้มากขึ้น เพื่อผลิตคอนเทนท์ที่ทั้งสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพในการเพิ่ม Engagement
“สิ่งที่ทำให้เราเหนือกว่าครีเอทีฟเอเจนซี่ทั่วๆไป คือเราไม่ได้แค่เพียงตั้งต้นจากการมอง insight คนอย่างเดียว แต่เราศึกษาจนถึงพฤติกรรมการบริโภคสื่ออีกด้วย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งคอนซูเมอร์ มีเวลาในแต่ละวัน 24 ชม. เท่ากันหมด แต่สิ่งที่แตกต่าง คืออารมณ์ของคนในชั่วขณะที่ใช้สื่อ ซึ่งเกิดมาจาก need states ทั้งนั้น หรือความต้องการของคนที่เปลี่ยนไปไม่รู้วันละกี่รอบตามอารมณ์ของคนๆนั้น ดังนั้นเราจำเป็นต้อง “customize content” ในช่วงเวลาของวันที่ใช่ ให้เหมาะกับความรู้สึกและความต้องการต่างๆของคอนซูเมอร์ อีกทั้งยังตอบโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ดิวเลยเชื่อว่าการทำ Long หรือ Short-form content เป็นวิธีที่แบบ traditional online ไปแล้ว”