หน้าแรกMediaศึกทีวีดิจิทัล “ละคร-ข่าว” ฟาดฟันหนัก ช่วงไพรม์ไทม์

ศึกทีวีดิจิทัล “ละคร-ข่าว” ฟาดฟันหนัก ช่วงไพรม์ไทม์

เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่คนไทยได้รับชมทีวีดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบโทรทัศน์ในประเทศไทย ที่ได้สร้างทางเลือกให้กับผู้ชมในประเทศมากขึ้น เริ่มแรกนั้น ทีวีดิจิทัลในประเทศไทยมีเพียง 2 ช่องหลัก แต่ปัจจุบันผู้ชมสามารถเลือกชมทีวีดิจิทัลได้ถึง 15 ช่อง ส่วนเนื้อหาก็มีความแตกต่างตามจุดแข็งที่แต่ละช่องได้วางไว้ บางช่องเลือกที่จะเน้นหนักไปที่รายการประเภทข่าว บางช่องให้เวลาออกอากาศแก่รายการบันเทิง เช่น ละคร วาไรตี้ และภาพยนตร์มากที่สุด ส่งผลให้ภาพรวมการบริโภคเนื้อหารายการทีวีดิจิทัลกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะรายการประเภทข่าว เห็นได้ชัดว่าผู้ชมให้ความสนใจและติดตามรายการประเภทนี้มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยจุดพีคนั้นเริ่มตั้งแต่ข่าว “หวย 30 ล้าน” (ปี 2017), “13 หมูป่าติดถ้ำหลวง” (ปี 2018), “COVID-19” (ตั้งแต่ปลายปี 2019) มาถึงข่าว “น้องชมพู่” ในปัจจุบัน

จำนวนผู้ชมทีวีดิจิทัลของแต่ละช่องเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 รายการประเภทละครของช่อง 7 เป็นรายการที่มีกลุ่มคนดูเยอะที่สุดในประเทศ ตามด้วยรายการประเภทละครช่อง 3 และรายการวาไรตี้จาก Workpoint TV ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มคนดูช่องข่าวของทีวีดิจิทัลทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 12.5-25 ของกลุ่มคนดูทั้งหมดของช่อง 7 เท่านั้น กลับมาดูภาพปี 2020 นี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้ชมทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่กระจายไปที่ช่องข่าวทีวีดิจิทัลอื่น ๆ มากขึ้น จากการสำรวจพบว่าผู้ชมหันมาสนใจเนื้อหาประเภทรายการข่าวมากขึ้น ส่งผลให้ช่อง Amarin TV และ Thairath ที่นำเสนอข่าวในรูปแบบที่เน้นเนื้อหาข่าวเจาะลึก รู้ลึก รู้จริง และลงพื้นที่จริง สามารถแย่งผู้ชมในช่วงเวลา ไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่ามีผู้ชมมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่สถานีโทรทัศน์ทำรายได้จากค่าโฆษณามากที่สุด ขึ้นมาเป็นช่องที่มีผู้ชมเยอะที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ในช่วงเวลาดังกล่าวตามลำดับ

Pic1กราฟแสดงจำนวนผู้ชมช่องทีวีดิจิทัล ช่วงวันธรรมดา (จันทร์ – ศุกร์) และวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) ทั้งประเทศ เปรียบเทียบเดือนสิงหาคม ปี 2017 และเดือนสิงหาคม ปี 2020

กระแสการชมรายการข่าวที่เพิ่มขึ้นนี้ ยิ่งเห็นได้ชัดในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ โดยจำนวนผู้ชมช่อง Amarin TV สูงว่าช่อง 3 หรือ ช่อง 7 ในช่วงเวลา 20.00-22.00 (ช่วงไพรม์ไทม์ ของคนกรุงเทพฯ และหัวเมือง) อย่างไรก็ตามผู้ชมกลุ่มนี้อีกส่วนหนึ่งยังคงดูรายการประเภทละครเป็นหลัก และยังคงเลือกชมเนื้อหารายการบางประเภทที่ตัวเองสนใจ หากมีละครที่เป็นกระแส เช่น “บุพเพสันนิวาส” เชื่อว่าจะสามารถดึงกลุ่มคนดูกลับไปที่ละครเช่นเดิม

Pic2กราฟแสดงจำนวนผู้ชมช่องทีวีดิจิทัล ช่วงวันธรรมดา (จันทร์ – ศุกร์) และวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) เฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เปรียบเทียบเดือนสิงหาคม ปี 2017 และเดือนสิงหาคม ปี 2020

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ชมกลุ่มนี้คือ สำหรับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ช่วงเวลาที่ผู้ชมนิยมดูรายการทีวีดิจิทัลมากที่สุดนั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาการออกอากาศของละครเย็น-ค่ำ 18.00-22.30 อีกต่อไป กลับกลายเป็นช่วงเวลา 08.00-13.00 แทน ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาออกอากาศของรายการละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ของช่อง 7 ตามด้วยรายการข่าว “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” และรายการเกมโชว์ “ศึก 12 ราศี” ของช่อง 3 นี่คือปรากฏการณ์แรกที่ผู้ชมรายการช่วงเช้าสูงกว่าช่วงไพรม์ไทม์ ในขณะที่วันธรรมดา กลุ่มผู้ชมยังอยู่ที่ช่อง 3 และ ช่อง 7 ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์เป็นหลักเหมือนเดิม

จากพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไปนั้น ทำให้ช่องรายการทีวีดิจิทัลต่าง ๆ ต้องคัดสรรเนื้อหาที่จะนำมาเสนออย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ผู้ชมเลือกที่จะชมรายการของช่องตัวเอง ในแง่ของผู้บริโภคสื่อถือว่าเป็นผลดี เพราะทำให้ผู้บริโภคได้รับเนื้อหาที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการและกระแสนิยมมากขึ้น ขณะที่การลงโฆษณานั้น นักการตลาดและนักวางแผนสื่อจะต้องกระจายช่องและช่วงเวลาให้เหมาะสม ทั้งในส่วนรายการประเภทละคร ข่าว และวาไรตี้ ช่วงไพรม์ไทม์และช่วงเวลาอื่น ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนดูได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามศึกชิงผู้ชมรายการทีวีดีจิทัล ยังไม่จบแค่นี้แน่นอน เชื่อว่าแต่ละช่องยังมีไม้เด็ดในการแย่งผู้ชมกลับมาที่ช่องตัวเอง มีโอกาสที่สถานการณ์จะพลิกได้ตลอดเวลา รวมทั้งสถานการณ์บ้านเมืองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะเปลี่ยนกระแสความต้องการ ๆ บริโภคเนื้อหาจากทีวีดิจิทัล ดังนั้นศึกนี้คงต้องรอดูกันไปยาว ๆ

 

MAGNA Master Logo


เกี่ยวกับ แม็กนา

แม็กนา เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งภายใต้ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) สำหรับแม็กนา ประเทศไทย นำทีมโดยคุณกนกวรรณ คุณาเรืองโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายซื้อสื่อโฆษณา และทีมงานที่มาพร้อมประสบการณ์ในแวดวงมีเดีย เอเจนซี่กว่า 16 ปี โดยทำให้กับทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การเงินและการธนาคาร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)  ด้วยความเชี่ยวชาญในการใช้กลยุทธ์การเลือกสื่อ แม็กนา ประเทศไทย ได้ร่วมสร้างความสำเร็จ ให้หลากหลายแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคด้วยสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

 

เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส

ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส  (IPG Mediabrands) คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน130ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments