”ความสุข” แพร่ได้เหมือน “ไวรัส”

Share This Post

จะเป็นอย่างไรหากวันนึงเราตื่นขึ้นมาแล้วปรากฎว่ามีไวรัสตัวใหม่ชื่อ “ความสุข” กำลังระบาดในประเทศไทย ทำให้คนที่อยู่ใกล้กับบุคคลที่มีเชื้อไวรัสความสุขนั้น มีความสุขไปด้วย แล้วเจ้าเชื้อไวรัสนี้ก็สามารถแพร่ระจายไปสู่บุคคลอื่น โดยไม่ต้องสัมผัสกันด้วยซ้ำ หลายคนพออ่านถึงตรงนี้ก็คงคิดว่า ถ้ามีเจ้าเชื้อนี้ก็ดีใช่ไหมล่ะ ถ้าความสุขเกิดขึ้นและติดต่อกันง่ายเช่นนั้น ทุกคนในประเทศไทยคงมีความสุขกันทั่วหน้า และทุกคนบนโลกก็คงยิ้มและครึกครื้นทั้งวันเป็นแน่ ถ้าหากมีเชื้อไวรัสความสุขนี้จริง!

แต่อย่าเพิ่งดับฝันตัวเองไป เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะนำมาพูดถึงคือ มุมมองที่ผู้เขียนมีต่อ “ความสุข” ในเชิงจิตวิทยาว่า ความสุขนั้นก็สามารถแพร่ได้เหมือนกับไวรัส COVID-19 ที่เรารู้จักกัน ถ้าให้เทียบก็คงเป็นเหมือนโลกคู่ขนานทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับโรคทางกาย เพียงแต่เราอาจไม่เคยนึกถึง

นักจิตวิทยามีมุมมองเรื่องความสุขว่า “ความสุขเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ทางบวก และความพึงพอใจในชีวิตของบุคคล รวมถึงลักษณะเฉพาะด้านบวกภายในตัวบุคคล ซึ่งสร้างให้เกิดความสุข” นั่นหมายความว่า หากเรามีความสุขแปลว่าเรากำลังมีอารมณ์ทางบวก และมีความพึงพอใจในชีวิต เป็นภาพใหญ่ที่เราจะประเมินจากคุณภาพชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาของเรา ผู้เขียนเคยได้ยินคำกล่าวว่า มนุษย์นั้นไม่ได้เลือกการกระทำจากการพิจารณาว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด แต่จะเลือกตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ จากความรู้สึกและความพึงพอใจ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังได้กล่าวถึงการมุ่งแสวงหาความพึงพอใจ (Pleasure Seeking Principle) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เรียกว่า อิด (Id) ซึ่งเป็นเบื้องหลังของพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ถูกกลั่นกรองความสมเหตุสมผลด้วย อีโก้ (Ego) และ ซูเปอร์อีโก้ (Superego) ตามลำดับ อ่านถึงตรงนี้แล้วเราฟันธงได้เลยว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่อต้องการมี “ความสุข” ถึงแม้เราจะทุกข์บ้างด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ หรือความไม่พึงพอใจ แต่สุดท้ายเราจะพยายามหาหนทางกลับมาสู่เส้นทางแห่งความสุขอยู่ดี

12

แล้ว “ความสุข” กับ “ไวรัส” เหมือนกันอย่างไร จริงๆ แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย เริ่มตั้งแต่ลักษณะภายนอก ไวรัสมีตัวตนเป็นรูปธรรม แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราสามารถเห็นและรับรู้ผลกระทบจากไวรัสได้ ส่วนความสุขเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่ความสุขกลับรู้สึกได้ เมื่อได้ทำสิ่งที่พึงพอใจทั้งกับตนเองและผู้อื่น แม้ลักษณะจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองคือ การแพร่กระจาย (Transmission) นั่นเอง หรือถ้าเป็นในมุมของความสุข ที่เราคุ้นหูกันมากๆ ก็คือ “การส่งต่อความสุข”

การแพร่กระจายเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้อธิบายถึงกลไกการแพร่เชื้อที่จะเกิดขึ้นจากคนสู่คน ผ่านตัวกลางต่างๆ ทั้งการสัมผัส (Contact Transmission) การฟุ้งกระจายไปกับฝอยละอองทั้งขนาดใหญ่และเล็กกว่า 5 ไมครอน (Droplet and Airborne Transmission) ซึ่งผลลัพธ์ของการแพร่กระจายก็คือ การติดต่อกันเป็นวงกว้างทำให้คนปกตินั้นสามารถติดเชื้อได้ ส่วน “ความสุข” ในทางจิตวิทยาไม่ได้ส่งต่อด้วยการแพร่กระจาย (Transmission) แบบเชื้อโรคหรือไวรัส เพราะความสุขไม่สามารถติดต่อผ่านการไอจามหรือฝอยละอองในอากาศ “การแพร่สุข” ต้องอาศัยความตั้งใจ ความปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับสุขจากเรา หรือที่เรียกว่า “ความเมตตา” ผ่านกลไกของการส่งต่อความสุขด้วยความตั้งใจดี

Pic2จำไว้ว่าคนหนึ่งคนมีอิทธิพลต่อเราเสมอ การก้าวขาเข้าไปอยู่กับใครหรือใกล้ใคร ก็ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของเราได้โดยทันที พูดง่ายๆ คือ เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เหมือนกับตอนที่เราอยู่คนเดียว สังเกตไหมว่าเวลาเราอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความสุข เราก็จะเฮฮามีความสุขกับคนกลุ่มนั้นไปด้วย แต่ถ้าเราเปลี่ยนกลุ่มมานั่งข้างคนเครียด เราก็จะเครียดกับเขาไปด้วย นี่เรียกว่าการมีอิทธิพลต่อกันในสังคม จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่า ทุกคนจะต้องแพร่สุขได้ หรือเราจะต้องบังคับให้ตัวเองมีความสุขถึงจะแพร่สุขได้ การแพร่สุขเกิดขึ้นได้ทั้งการ “ให้และการรับ” หากเราไม่พร้อมจะให้ เราก็เลือกรับเอาความสุขจากคนข้างกายหรือเพื่อนข้างตัว เพื่อเติมเต็มความรู้สึก เปลี่ยนความคิด หรือปรับอารมณ์บางอย่าง ในขณะเดียวกัน หากเราพร้อมที่จะเป็นผู้แพร่สุข ก็แบ่งปัน ส่งต่อ หรือแพร่สุข ด้วยความเมตตาให้กับบุคคลอื่น ให้พวกเขามีความสุขกับเรา

จากวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังแพร่เชื้อความสุข ให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินและสิ่งของด้วยความปรารถนาดี ต้องการช่วยเหลือและให้กำลังใจต่อกัน ยกตัวอย่างเช่น การนำสิ่งของไปใส่ไว้ในตู้ปันสุข ด้วยความปรารถนาจะช่วยคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่นำวิดีโอของนักแพร่สุขเหล่านี้มาโพสต์บนโซเชียล มีเดีย ก็ถือว่าได้ช่วยกันแพร่เชื้อไวรัสความสุขเช่นกัน หากทุกคนเริ่มเข้าใจกลไกการแพร่สุขแล้ว ความสุขที่เรารับและแพร่ให้กันและกันมันจะเกิดแรงกระเพื่อม (Ripple Effect) ขยายสู่สังคมวงกว้างต่อไป

ดังนั้นความสุขแม้จะไม่ใช่ไวรัส แต่ก็สามารถแพร่ได้เหมือนไวรัส ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเป็นนักแพร่สุขและรับความสุขได้ในเวลาเดียวกัน โดยเริ่มจากกระจายไวรัสความสุขนี้ให้คนใกล้ตัว ยกตัวอย่าง ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (ประเทศไทย) ได้จัดทำบอร์ดแสดงความขอบคุณเพื่อนร่วมงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานเขียนกระดาษโน้ตพร้อมข้อความขอบคุณหรือให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน ซึ่งช่วยแพร่เชื้อความสุขภายในองค์กรจากพนักงานสู่พนักงานด้วยกัน สุดท้ายนี้อยากบอกผู้อ่านทุกท่านว่าอย่ามัวแต่ยึดว่าเราต้อง “ให้” ความสุขกับใคร อย่างไรบ้าง ความสุขมันไม่ใช่สิ่งของ แต่ต้องคิดว่าเราปรารถนาที่จะให้เขารู้สึก “สุข” ได้อย่างไรจะดีกว่า รับเชื้อ “สุข” มาแล้ว อย่าลืมแพร่เชื้อ “สุข” ให้คนอื่นด้วยนะ


 

นักเขียน

 lisa 2

คุณกริช  ศรีมงคล

เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลอาวุโส


 

เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส

IPG MEDIABRANDS คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน130ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน

เรามีการให้บริการแบบครบวงจรในทุกมิติของการเป็น Agency ระดับโลกโดยภายในเครือข่ายของ IPG Mediabrands นั้นรวมไปถึงบริษัทสำหรับการวางแผนสื่อและการตลาดชั้นนำอย่าง UM, Initiative และ BPN และกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลและการวิจัยอย่าง Cadreon, Healix, Identity, IPG Media Lab, MAGNA, Orion Holdings, Rapport และ ดิจิทัลเอเจนซี่อย่าง Reprise www.ipgmediabrands.com.

 

spot_img

Related Posts

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.