การออกแบบนั้นถือเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งสำหรับการทำงานด้านโฆษณา เพราะเป็นงานที่ต้องผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการที่จะต้องคำนึงถึงรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทุกวัน และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างและหลากหลายให้กับแต่ละชิ้นงานที่มี Objective แตกต่างกันไป
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ คุณประพันธ์ ภคเอกภัทร Graphic designer สุดแนวจาก Ensemble Thailand กับผลงานที่ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากกับแคมเปญ Big Sea ไม่สดไม่เสิร์ฟ จาก Big-C Supercenter
– แนะนำตัวให้เรารู้จักกันหน่อย
ชื่อเบ็นซ์ครับ เรียนจบที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะดิจิตอลอาร์ต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต ทำงานที่ IPG มา 1 ปีกับอีก 6 เดือนแล้วครับผม
– ขั้นตอนการทำงานและวิธีคิดของ designer หรือที่เค้าเรียก Designer Thinking มีอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว การเป็นดีไซน์เนอร์ ก็เหมือนเราเป็นหมอที่คอยซักอาการคนไข้ ไม่มีบรีฟไหนที่ชัดเจน 100% ต้องค่อยๆไล่ถามชอบสีอะไร ชอบงานสไตล์ไหน ชอบรูปอารมณ์แบบนี้ไหม แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบเป็นผลงานเติมเต็มความต้องการของลูกค้าให้กลายเป็นภาพๆหนึ่ง
ส่วนเรื่อง Platform นี้ในแง่มุมของ Digital กับ Out of home ต่างกันอยู่ประมาณหนึ่ง
Digital นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง eye-catching หรือสะดุดตา เพราะ Ads เหล่านี้จะผ่านตาเราแค่ไม่กี่เสี้ยววินาทีเท่านั้นแล้วเราจะเลื่อนผ่านมันไป
ในส่วนของ Out of home นั้นจะเน้นการสะกดจิต เพราะ Ads เหล่านี้จะถูกวางอยู่ในสถานที่ๆ คนต้องเจอบ่อยๆ หรือผ่านตาบ่อยๆ สามารถ Interact ได้มากกว่า
– เล่าถึงแคมเปญ Big Sea ไม่สดไม่เสิร์ฟ ให้เราฟังหน่อย
บรีฟแรกค่อนข้างชัดเจนในเรื่อง content ว่าต้องการอะไรบ้างในเนื้องานต้องการ Text นี้ ต้องการวัตถุดิบชิ้นนี้อยู่ในรูป แต่ไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องของสไตล์ รวมถึง Reference ที่แนบมาเป็นตัวอย่าง ค่อนข้างห่างไกลจาก Material ที่มีมาก ขั้นตอนโปรดัคชั่นเลยเริ่มจากการทำ Research จาก ads อาหารทะเลชิ้นอื่นๆและทำการบ้านเล็กๆน้อยๆ อย่างตั้งคำถามง่ายๆว่า เราต้องการอาหารทะเลในอุดมคติอย่างไร หาจุดกึ่งกลางให้ Match กันระหว่างจินตนาการของเราและ Material ที่มี
จากนั้นจึงค่อยๆเริ่มขึ้น Artwork ในโปรแกรม เริ่มจากการวาง Layout ให้คิดก่อนเลยว่า Text จะอยู่ส่วนไหน Object อยู่ตรงไหนวาง Grid ให้ชัดเจนก่อนทำงาน หลายๆคนอาจจะคิดว่าทำรูปให้เสร็จก่อนค่อยหาที่วาง Text บางครั้ง Text มันยากที่จะไปด้วยกันกับตัวงานเพราะมันพึ่งถูกนำมาวางที่หลัง ขั้นตอนถอดมาหลังจากที่เราวาง Layout หลักได้แล้วก็ค่อยๆตกแต่งเก็บรายละเอียด เช่น Retouch ตัวกุ้งให้สวยงาม วางมันลงบนจาน ใส่น้ำแข็ง หาน้ำจิ้มซีฟู๊ดมาวางลงบนพื้นที่ว่างเพื่อเสริม Story ของรูป
ส่วนที่มาของ Object ต่างๆในรูป
พื้นไม้ ให้ความรู้สึกถึงท่าเรือ เหมือนเรานั่งรออาหารเสิร์ฟจากร้านริมทะเลจริงๆ
น้ำแข็ง แสดงถึงความพิถีพิถันในการเสิร์ฟเพื่อคงความสดใหม่ของตัวอาหารจานกลม เป็นจานที่สามารถทำให้จัดกลุ่ม Object ของรูปได้ง่ายโดยการกรุ๊ปทั้งหมดอยู่ในจาน และทำให้ Grid ที่เราวางไว้ไม่ดูเป็นบลอคๆเกินไป
สีเขียวน้ำทะเล ไม่มีอะไรเข้ากันกับอาหารทะเลไปมากกว่าสีน้ำทะเลอีกแล้ว
สีขาว ความสะอาดเป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารทุกชนิด
มือ,ผ้าปูโต๊ะ,ผัก,น้ำจิ้มซีฟู๊ด เพื่อเสริมความมีชีวิตชีวาให้กับตัวรูปอาหาร
– ฝากถึงน้องๆหรือคนที่สนใจในเรื่องการออกแบบหน่อย
ในเรื่องของฝีมือเราสามารถฝึกได้โดยทั่วไปกับการดูงานเยอะๆครับ ทุกวันนี้ก็เห็นได้มากมายตาม Social, Billboard ต่างๆอยู่แล้ว เจออะไรดีๆก็จำไว้นำมาประยุกต์ใช้ แต่หัวใจของการออกแบบให้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานเลยคือการตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ หลายๆครั้งที่เราทำงานที่คิดว่าสวยแล้ว แต่ไม่ถูกใจลูกค้าก็มีเยอะแยะไปพยายามหาจุดกึ่งกลางเรื่องความสามารถกับรสนิยมของลูกค้าให้ได้ ทำงานที่ไหน ที่นั่นก็รักครับ 🙂
ประพันธ์ ภคเอกภัทร
Graphic Designer