COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse

Share This Post

เห็นได้ชัดว่า การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป สืบเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หนึ่งในมาตรการป้องกันตัวเองที่สำคัญ ทำให้หลายคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน และใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในเรื่องต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารเพื่อการอุปโภคบริโภคและบันเทิง จนชีวิตบนโลกดิจิทัลกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในยุค COVID-19 นี้ หากเราต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่นี้ต่อไปเรื่อย ๆ โลกของเราก็คงเข้าสู่โลก “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) โลกที่เชื่อมระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริง หรือโลกดิจิทัล เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix (1999), Ghost in the Shell (2017) หรือ Ready Player One (2018) ที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ขออธิบายความหมายของ “Metaverse” ก่อนว่า คำนี้เป็นคำที่บัญญัติขึ้นครั้งแรกในนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เรื่อง Snow Crash ของนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 ในนวนิยายพูดถึง พื้นที่เสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันคือ แพลตฟอร์มที่รวมโลกเสมือนจริง โลกดิจิทัลทั้งหมด เชื่อมต่อเข้ากับโลกความเป็นจริง ในลักษณะเดียวกับที่อินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่จะเป็นในรูปแบบสามมิติ มนุษย์สามารถโต้ตอบ เข้าไปมีส่วนร่วมผ่านหน้าจอ ผ่านการสวมแว่นวีอาร์ (Virtual Reality) และอุปกรณ์วีอาร์อื่น ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนจริง โดยมีระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและขับเคลื่อนโลกนี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เราพูดถึงนี้ไม่ใช่แค่ เทคโนโลยีระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหนือกว่านั้น เป็นเทคโนโลยีที่อาจยังมาไม่ถึง เพื่อให้เห็นภาพ ให้นึกถึงเทคโนโลยีในเรื่อง The Matrix ตามที่มอร์เฟียส (Morpheus) หนึ่งในตัวละครหลักอธิบายไว้ว่า

“เมทริกซ์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เทคโนโลยีที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา รวมถึงตอนนี้ มันอยู่ในห้อง ๆ นี้
คุณมองเห็นมันเมื่อคุณมองออกไปนอกหน้าต่าง เมื่อคุณเปิดโทรทัศน์
คุณรู้สึกได้ตอนคุณไปทำงาน…ตอนคุณไปโบสถ์…ตอนคุณจ่ายภาษี
มันคือโลกที่ฉุดรั้งคุณไว้ให้มืดบอดจากความเป็นจริง…”

แต่โลก Metaverse คงไม่ได้มืดบอด ต้องแอ่นตัวหลบกระสุน หนีการไล่ล่าเหมือนในภาพยนตร์ The Matrix หรือ Ready Player One อย่างเดียว เพราะโลก Metaverse ที่นักวิทยาศาสตร์ โปรแกรเมอร์ ชาวไอที หรือเนิร์ดจินตนาการไว้ คือ โลกแห่งอนาคตที่แท้จริง โลกที่คนและหุ่นยนต์เดินร่วมกันบนท้องถนน โลกที่เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ 5 มีความสำคัญรองจาก 1. อาหาร 2. ยารักษาโรค 3. ที่อยู่อาศัย 4. เทคโนโลยี และ 5. เครื่องนุ่งห่ม
2ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น บางทีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่กำลังขับเคลื่อนให้มนุษย์ก้าวเข้าสู่โลก Metaverse คือ การระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมทางสังคมออนไลน์กระแสหลัก เปลี่ยนจากการแบ่งปันรูปถ่ายแมว ไปเป็นการครอบคลุมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้คนนอกบ้าน พฤติกรรมออนไลน์ของหนุ่มสาวรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) และเด็กเจนซี (Gen Z) ได้แทรกซึมไปยังทุกกลุ่มอายุและทุกกลุ่มประชากร รวมทั้งคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรืออายุมากกว่านั้น ก็ถูกบังคับให้ยอมรับเทคโนโลยีเข้าไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ จากทางภาครัฐในช่วงการระบาดของ COVID-19 การติดต่อสื่อสารกับลูกหลานที่อยู่ห่างออกไป เป็นต้น แม้ในวันที่เรากลับไปเดินทางได้อย่างอิสระ หรือได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติอีกครั้ง ทักษะและพฤติกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงผ่านโลกดิจิทัลเหล่านี้จะไม่ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
ในขณะที่การแพร่ระบาด COVID-19 ได้เร่งขับเคลื่อนมนุษย์ เข้าสู่โลก Metaverse แต่ก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องเติมให้เต็มก่อนที่เราจะสามารถเรียกแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น Metaverse ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ โดยมี 4 สิ่งที่ผู้เขียนนึกออกในเวลานี้ คือ
1. การสร้างประสบการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง และมีความเสถียร: สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ อันดับแรกคือ มนุษย์กว่า 7,000 ล้านคนบนโลกนี้ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม และตัวเทคโนโลยีเองสามารถรองรับการความต้องการใช้งานของมนุษย์ได้แบบไม่มีขีดจำกัด และไม่สะดุด ยกตัวอย่างเช่น 12 ล้านคน สามารถเข้าชมคอนเสิร์ตบนแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมกันได้ เด็กในพื้นที่ห่างไกล ในทวีปแอฟริกา สามารถรับชมการปล่อยกระสวยอวกาศ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อม ๆ กับคนเป็นล้าน ๆ คนทั่วโลก และยังโต้ตอบพูดคุยผ่านกรุ๊ปแชทได้
2. การสร้าง อินเตอร์เฟส (Interface) ที่เข้าถึงได้ง่าย: แป้นพิมพ์และเมาส์ จะกลายเป็นขยะดิจิทัล หน้าจอทัชสกรีน จะกลายเป็นความล้าหลัง อินเตอร์เฟสแบบสามมิติ อาจไปถึงการความคุมสิ่งต่าง ๆ โดยใช้จิตและความนึกคิด คือสิ่งที่ผู้ผลิต และนักพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องประดิษฐ์ขึ้นมาให้ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ทุกคน รวมทั้งผู้มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวด้วย การไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้การควบคุมเหล่านั้นใช้งานง่าย เป็นเรื่องยากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์
3. การสร้างเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความสนใจทั้งหมดของมนุษย์: เราจะเรียกว่า โลก Metaverse ได้ ก็ต่อเมื่อความสนใจและความต้องการของมนุษย์ทุก ๆ ชั่วขณะ ได้รับการตอบสนองด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถตอบอีเมล ขณะดูคอนเสิร์ต และพูดสั่งอาหารออนไลน์บนหน้าอินเตอร์เฟสเดียวกันได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสวมแว่น AR หรือต้องมีอุปกรณ์รองรับ เช่น Google Assistant, Siri และ Alexa ในโลก Metaverse อุปกรณ์เดียวสามารถแบ่งหน้าอินเตอร์เฟส หรือฟังกัชั่นได้หลายอย่างในเวลาเดียว
4. การสร้างระบบนิเวศ ให้หลายแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกันอย่างไม่สิ้นสุด: การสร้างระบบนิเวศ อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ในการเคลื่อนมนุษย์เข้าสู่โลก Metaverse แต่การสร้างระบบนิเวศที่สามารถเชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์ม จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะทำให้ทุกอย่างในโลก Metaverse ล้ำกว่าระบบ Internet of Things เพราะทุกแพลตฟอร์มมีระบบนิเวศของตัวเอง และเมื่อทุกระบบนิเวศรวมกันจึงกลายเป็นโลก Metaverse โดยที่ต้องไม่มีบริษัทหรือประเทศใดเป็นเจ้าของหรือควบคุม ใช่… ในที่สุดจะมียักษ์ใหญ่ของ Metaverse ที่ครองบางภาค แต่ผู้ควบคุมรายใหญ่จะตระหนักได้เองว่า พวกเขาจะไม่สามารถครอบครองทั้งระบบนิเวศ หรือทั้งโลก Metaverse

1แม้ COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse แต่ดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ยังต้องเร่งพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีที่เราต้องพัฒนาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย เพื่อเปิดรับและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลก Metaverse ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงภาพยนตร์ไซไฟ หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์

ผู้เขียน คุณสุดาภรณ์ โอบอ้อม, เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย


เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส
ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน

spot_img

Related Posts

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.