“ซื้อขายของออนไลน์” โตวันโตคืน

0
5040

บทความโดย กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี / อรรณพ ดวงมณี
[email protected] / [email protected]

การซื้อขายของออนไลน์ของคนไทยเติบโตขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งจากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยประจำปี 2559 คาดว่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 240,000 ล้านบาท หรือมีการเติบโตอยู่ที่ 20% จากในปี 2558 ที่มีมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความนิยมการสั่งซื้อสินค้าผ่านทาง Application ทั้งบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งเทคโนโลยีเครือข่ายบนโทรศัพท์มือถือ 3G และ 4G ที่ครอบคลุม และมีความเร็วสูงมากขึ้นนำไปสู่การพัฒนาช่องทางการชำระเงินแบบออนไลน์ รวมไปถึงการส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ รวมไปถึงการก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจ E-Commerce ของเจ้าของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หลายราย ด้วยความน่าสนใจดังกล่าวทำให้ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative ต้องหาข้อมูลในเวปไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าไปซื้อขายสินค้ามาให้ผู้อ่านคอลัมน์ได้อ่านกัน

article_2_1

ทั้งนี้เมื่อดูรายละเอียดในส่วนของตลาด “การค้าปลีก และค้าส่ง” หรือ “การซื้อของออนไลน์” พบว่า สินค้าที่ครองยอดขายอันดับ 1 ที่คนไทยนิยมซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ก็คือ สินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอที รองลงมาเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง แฟชั่น และอุปกรณ์เสริมความงาม ตามมาเป็นอันดับ 3 คือ เครื่องแต่งกาย ส่วนสินค้าปลีก และค้าส่งทั่วไปมาเป็นอันดับ 4 และอันดับ 5 ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ที่น่าสนใจก็คือ อันดับ 6 กลุ่มห้างสรรพสินค้า และอันดับ 7 กลุ่มอาหาร/เครื่องดื่ม ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่จะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การโฆษณาจากเดิมเพื่อหันเข้าหาลูกค้าออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่เติบโตมากยิ่งขึ้นในปีนี้

article_2_2

ทีมงานได้ค้นหาข้อมูล 10 เวปไซต์ประเภท B2C ที่คนไทยนิยมเข้าไป “ซื้อของออนไลน์” มากที่สุด จากข้อมูลของ ECommerceIQ  เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2016 จนถึงเดือนตุลาคม 2016 พบว่า เวปไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าไป “ซื้อของออนไลน์” สูงสุดคือ Lazada.co.th ซึ่งเป็นเวปไซต์ขายสินค้าเกือบทุกประเภทเฉลี่ยยอดเข้าเวปไซต์อยู่ที่ 28.8 ล้านครั้งต่อเดือน อันดับ 2 คือ Advice.co.th ที่เน้นการขายอุปกรณ์ประเภทไอทีเฉลี่ยที่ 2.55 ล้านครั้งต่อเดือน ส่วนเวปไซต์อื่น ๆ มียอดการเข้าเวปไซต์ที่ใกล้เคียงกัน คือ JIB.co.th ที่เน้นการขายอุปกรณ์ประเภทไอทีเฉลีย 1.43 ล้านครั้งต่อเดือน Central.co.th เวปไซต์ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฉลี่ย 1.59 ล้านครั้งต่อเดือน  ShoponlineTescolotus.com เวปไซต์ขายสินค้าของโมเดิร์นเทรดเทสโก้โลตัสอยู่ที่ 1.54 ล้านครั้งต่อเดือน  Munkonggadget.com ที่เน้นขายอุปกรณ์หูฟัง และเครื่องเสียงเฉลี่ยที่ 1.06 ล้านครั้งต่อเดือน Zalora.co.th ซึ่งเป็นเวปไซต์ขายแฟชั่นเสื้อผ้าเฉลี่ย 1.25 ล้านครั้งต่อเดือน Orami.co.th เวปไซต์สินค้าแฟชั่นเฉลี่ยที่ 7.1 แสนครั้งต่อเดือน Thaiticketmajor.com เวปไซต์ให้บริการจองตั๋วกิจกรรมกีฬา และบันเทิงต่าง ๆ เฉลี่ยที่ 9.7 แสนครั้งต่อเดือน และ cdiscount.co.th ที่ล่าสุดเพิ่งเปลี่ยนเป็น Cmart.co.th เฉลี่ยอยู่ที่ 1.34 ล้านครั้งต่อเดือน โดยเป็นที่น่าสังเกตุว่าใน 2 เดือนล่าสุดการเข้าเวปไซต์ของ Cmart.co.th ตกวูบลงมาเหลือประมาณ  3 แสนครั้งต่อเดือนเท่านั้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะพอเป็นแนวทางให้กับนักการตลาด และนักโฆษณาที่กำลังหาวิธีที่จะเจาะเข้าหาผู้บริโภคที่นิยมชมชอบการ “ซื้อของออนไลน์” เพื่อหวังที่จะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจ และหวังให้ผู้บริโภคนึกถึงอันจะได้มาซึ่ง “ยอดขาย” ในช่องทางที่กำลังโตวันโตคืนเช่นนี้