HomeMediaสื่อผสมทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย

สื่อผสมทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย

บทความโดย ชนิกานต์ วัฒนภัควงศ์, Assistant Strategist, มีเดียเอเยนซี่ UM ในเครือ IPG Mediabrands

อย่างที่ทราบกันดีว่ามีนิตยสารหลาย ๆ ฉบับต่างทยอยปิดตัว ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารที่อยู่คู่คนไทยมาช้านานอย่าง สกุลไทย เปรียว หรือแม้แต่นิตยสารหัวนอก Cosmopolitan ก็ประกาศปิดตัวลงในปีนี้ด้วยเช่นกัน    แล้วยังมีนิตยสารอีกหลายหัวที่พยายามรักษาตัวรอดด้วยการปรับเปลี่ยนจากรายสัปดาห์มาเป็นรายเดือนหรือบางรายก็ผันตัวไปเป็นฟรีก๊อปปี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งลง

เหตุก็เพราะการก้าวเข้ามาของ ”อินเตอร์เนต” ที่ทำให้การบริโภคสื่อของคนเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยซื้อหนังสือเป็นเล่ม ๆ มาอ่านก็เปลี่ยนมาโหลดผ่านออนไลน์แทน เพราะสะดวกสบาย แล้วยังสามารถอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญบางเล่มยังเปิดให้โหลดได้ฟรีอีกต่างหาก จึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสารบางเล่มบางหัวจะทะยอยหายไปตามกาลเวลา

แต่จริง ๆ แล้วนิตยสารบางเล่มบางหัวเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหนอย่างที่ทุกคนคิด เขายังอยู่กับเราเหมือนเดิม แถมยังเข้าถึงเราได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย แต่ได้เปลี่ยนวิธีการนำเสนอจากรูปแบบเป็นเล่มมาผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งนิตยสารหลาย ๆ ฉบับเริ่มหันมามอง “สื่อออนไลน์” เป็นช่องทางในการนำเสนอคอนเทนท์ และติดต่อสือสารกับผู้อ่านตามพฤติกรรมของผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไป

นิตยสารหลาย ๆ เล่มได้สร้างเป็นเว็ปไซต์หรือเฟซบุ๊กเพจให้ผู้อ่านได้ติดตามบทความที่น่าสนใจ บางเล่มก็ทำเป็นอินสตาแกรมให้คนได้เข้าไปดูรูปภาพสวย ๆ คล้าย ๆ กับเป็นแฟชั่นแกลลอรี่ ซึ่งหากบทความหรือรูปนั้น ๆ ถูกจริต ทันกระแสสังคมก็จะถูกแชร์กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว และแพร่หลาย ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อยอดไลค์ และแฟนเพจสูงขึ้นชื่อหนังสือเล่มนั้น ๆ ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นตามไปด้วย

ในขณะที่บางรายก็ยังมีการดีไซน์เว็ปไซต์ให้มีลูกเล่นใหม่ ๆ เพื่อให้คนอ่านได้รับประสบการณ์ทางการอ่านที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกซ้ำซากจำเจกับการอ่านบทความแบบเดิม ๆ อีกต่อไป ซึ่งบางสื่อมีการจัดการเว็ปไซต์ และแฟนเพจได้ดีถึงขนาดมีคนติดตามเกินล้านคนก็มี

วิธีการเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า หากสื่อใดต้องการที่จะอยู่รอดในยุคนี้ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และตามให้ทันพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคอยู่เสมอ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งหนังสือพิมพ์ และนิตยสารหลาย ๆ เล่มที่หันมาเอาดีทางด้านออนไลน์พร้อมกับตีพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่ายไปพร้อม ๆ กัน ถือว่าเป็นการกระจายเนื้อหาบทความไปได้ในหลาย ๆ ช่องทาง

ดังนั้นหากสื่อหรือนิตยสารใดมีวิธีในการ “ผสมผสานการใช้สื่อ” แต่ละประเภทได้อย่างลงตัว และสามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกัน และกัน ทางรอดของสื่อนั้น ๆ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments