COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse

0
4805

เห็นได้ชัดว่า การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป สืบเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หนึ่งในมาตรการป้องกันตัวเองที่สำคัญ ทำให้หลายคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน และใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในเรื่องต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารเพื่อการอุปโภคบริโภคและบันเทิง จนชีวิตบนโลกดิจิทัลกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในยุค COVID-19 นี้ หากเราต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่นี้ต่อไปเรื่อย ๆ โลกของเราก็คงเข้าสู่โลก “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) โลกที่เชื่อมระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริง หรือโลกดิจิทัล เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix (1999), Ghost in the Shell (2017) หรือ Ready Player One (2018) ที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ขออธิบายความหมายของ “Metaverse” ก่อนว่า คำนี้เป็นคำที่บัญญัติขึ้นครั้งแรกในนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เรื่อง Snow Crash ของนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 ในนวนิยายพูดถึง พื้นที่เสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันคือ แพลตฟอร์มที่รวมโลกเสมือนจริง โลกดิจิทัลทั้งหมด เชื่อมต่อเข้ากับโลกความเป็นจริง ในลักษณะเดียวกับที่อินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่จะเป็นในรูปแบบสามมิติ มนุษย์สามารถโต้ตอบ เข้าไปมีส่วนร่วมผ่านหน้าจอ ผ่านการสวมแว่นวีอาร์ (Virtual Reality) และอุปกรณ์วีอาร์อื่น ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนจริง โดยมีระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและขับเคลื่อนโลกนี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เราพูดถึงนี้ไม่ใช่แค่ เทคโนโลยีระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหนือกว่านั้น เป็นเทคโนโลยีที่อาจยังมาไม่ถึง เพื่อให้เห็นภาพ ให้นึกถึงเทคโนโลยีในเรื่อง The Matrix ตามที่มอร์เฟียส (Morpheus) หนึ่งในตัวละครหลักอธิบายไว้ว่า

“เมทริกซ์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เทคโนโลยีที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา รวมถึงตอนนี้ มันอยู่ในห้อง ๆ นี้
คุณมองเห็นมันเมื่อคุณมองออกไปนอกหน้าต่าง เมื่อคุณเปิดโทรทัศน์
คุณรู้สึกได้ตอนคุณไปทำงาน…ตอนคุณไปโบสถ์…ตอนคุณจ่ายภาษี
มันคือโลกที่ฉุดรั้งคุณไว้ให้มืดบอดจากความเป็นจริง…”

แต่โลก Metaverse คงไม่ได้มืดบอด ต้องแอ่นตัวหลบกระสุน หนีการไล่ล่าเหมือนในภาพยนตร์ The Matrix หรือ Ready Player One อย่างเดียว เพราะโลก Metaverse ที่นักวิทยาศาสตร์ โปรแกรเมอร์ ชาวไอที หรือเนิร์ดจินตนาการไว้ คือ โลกแห่งอนาคตที่แท้จริง โลกที่คนและหุ่นยนต์เดินร่วมกันบนท้องถนน โลกที่เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ 5 มีความสำคัญรองจาก 1. อาหาร 2. ยารักษาโรค 3. ที่อยู่อาศัย 4. เทคโนโลยี และ 5. เครื่องนุ่งห่ม
2ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น บางทีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่กำลังขับเคลื่อนให้มนุษย์ก้าวเข้าสู่โลก Metaverse คือ การระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมทางสังคมออนไลน์กระแสหลัก เปลี่ยนจากการแบ่งปันรูปถ่ายแมว ไปเป็นการครอบคลุมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้คนนอกบ้าน พฤติกรรมออนไลน์ของหนุ่มสาวรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) และเด็กเจนซี (Gen Z) ได้แทรกซึมไปยังทุกกลุ่มอายุและทุกกลุ่มประชากร รวมทั้งคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรืออายุมากกว่านั้น ก็ถูกบังคับให้ยอมรับเทคโนโลยีเข้าไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ จากทางภาครัฐในช่วงการระบาดของ COVID-19 การติดต่อสื่อสารกับลูกหลานที่อยู่ห่างออกไป เป็นต้น แม้ในวันที่เรากลับไปเดินทางได้อย่างอิสระ หรือได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติอีกครั้ง ทักษะและพฤติกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงผ่านโลกดิจิทัลเหล่านี้จะไม่ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
ในขณะที่การแพร่ระบาด COVID-19 ได้เร่งขับเคลื่อนมนุษย์ เข้าสู่โลก Metaverse แต่ก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องเติมให้เต็มก่อนที่เราจะสามารถเรียกแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น Metaverse ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ โดยมี 4 สิ่งที่ผู้เขียนนึกออกในเวลานี้ คือ
1. การสร้างประสบการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง และมีความเสถียร: สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ อันดับแรกคือ มนุษย์กว่า 7,000 ล้านคนบนโลกนี้ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม และตัวเทคโนโลยีเองสามารถรองรับการความต้องการใช้งานของมนุษย์ได้แบบไม่มีขีดจำกัด และไม่สะดุด ยกตัวอย่างเช่น 12 ล้านคน สามารถเข้าชมคอนเสิร์ตบนแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมกันได้ เด็กในพื้นที่ห่างไกล ในทวีปแอฟริกา สามารถรับชมการปล่อยกระสวยอวกาศ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อม ๆ กับคนเป็นล้าน ๆ คนทั่วโลก และยังโต้ตอบพูดคุยผ่านกรุ๊ปแชทได้
2. การสร้าง อินเตอร์เฟส (Interface) ที่เข้าถึงได้ง่าย: แป้นพิมพ์และเมาส์ จะกลายเป็นขยะดิจิทัล หน้าจอทัชสกรีน จะกลายเป็นความล้าหลัง อินเตอร์เฟสแบบสามมิติ อาจไปถึงการความคุมสิ่งต่าง ๆ โดยใช้จิตและความนึกคิด คือสิ่งที่ผู้ผลิต และนักพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องประดิษฐ์ขึ้นมาให้ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ทุกคน รวมทั้งผู้มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวด้วย การไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้การควบคุมเหล่านั้นใช้งานง่าย เป็นเรื่องยากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์
3. การสร้างเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความสนใจทั้งหมดของมนุษย์: เราจะเรียกว่า โลก Metaverse ได้ ก็ต่อเมื่อความสนใจและความต้องการของมนุษย์ทุก ๆ ชั่วขณะ ได้รับการตอบสนองด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถตอบอีเมล ขณะดูคอนเสิร์ต และพูดสั่งอาหารออนไลน์บนหน้าอินเตอร์เฟสเดียวกันได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสวมแว่น AR หรือต้องมีอุปกรณ์รองรับ เช่น Google Assistant, Siri และ Alexa ในโลก Metaverse อุปกรณ์เดียวสามารถแบ่งหน้าอินเตอร์เฟส หรือฟังกัชั่นได้หลายอย่างในเวลาเดียว
4. การสร้างระบบนิเวศ ให้หลายแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกันอย่างไม่สิ้นสุด: การสร้างระบบนิเวศ อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ในการเคลื่อนมนุษย์เข้าสู่โลก Metaverse แต่การสร้างระบบนิเวศที่สามารถเชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์ม จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะทำให้ทุกอย่างในโลก Metaverse ล้ำกว่าระบบ Internet of Things เพราะทุกแพลตฟอร์มมีระบบนิเวศของตัวเอง และเมื่อทุกระบบนิเวศรวมกันจึงกลายเป็นโลก Metaverse โดยที่ต้องไม่มีบริษัทหรือประเทศใดเป็นเจ้าของหรือควบคุม ใช่… ในที่สุดจะมียักษ์ใหญ่ของ Metaverse ที่ครองบางภาค แต่ผู้ควบคุมรายใหญ่จะตระหนักได้เองว่า พวกเขาจะไม่สามารถครอบครองทั้งระบบนิเวศ หรือทั้งโลก Metaverse

1แม้ COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse แต่ดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ยังต้องเร่งพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีที่เราต้องพัฒนาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย เพื่อเปิดรับและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลก Metaverse ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงภาพยนตร์ไซไฟ หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์

ผู้เขียน คุณสุดาภรณ์ โอบอ้อม, เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย


เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส
ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน