สี แรงดึงดูดในโลกการตลาด

0
5308

นักจิตวิทยาเชื่อว่า “สี” (Color) มีผลต่อพฤติกรรม ความรู้สึก ความคิด และกระบวนการทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ จากงานวิจัยเรื่อง The Effects of Color on Human Behavior ซึ่งตีพิมพ์ลง Journal of the Association for the Study of Perception (1974) ยืนยันว่า สี ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ด้วยการมองเห็น มีผลต่อการตอบสนองทางพฤติกรรมและอารมณ์ของมนุษย์ เนื่องจากการรับรู้เรื่องสีของมนุษย์เกี่ยวเนื่องกับตัวแปรมากมาย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และลักษณะของแต่ละบุคคล ซึ่งตัวแปรเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของแรงจูงใจ การเคลื่อนไหว และการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง จึงสรุปได้ว่า สีมีผลต่อกายภาพและจิตใจของมนุษย์

ปัจจุบันนักสื่อสารการตลาดได้นำผลสรุปของงานวิจัยเกี่ยวกับสีและจิตวิทยามาใช้ในงานโฆษณามากมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดผู้บริโภค และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้า เพราะนอกจากผลงานวิจัยจิตวิทยาเรื่องสีแล้ว สีเป็นหนึ่งในปัจจัยแรก ๆ  ที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เห็น จากผลสำรวจและวิจัยของสำนักเลขาธิการผู้จัดงาน Seoul International Color Expo ในปี 2004 พบว่า 93% ของผู้ซื้อสินค้าจะพิจารณาซื้อสินค้าจากลักษณะภายนอกที่มองเห็น และ 84.7% ของผู้ซื้อสินค้าเลือกให้ สี เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการตัดสินใจซื้อสินค้า การเลือกใช้สีกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวแบรนด์หรือสินค้าจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสีของโลโก้ สีของบรรจุภัณฑ์ สีป้ายสินค้า โทนสีของภาพยนตร์โฆษณา และป้ายบิลบอร์ด โดยนักการตลาดส่วนใหญ่ใช้หลักการเลือกสีให้สอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์ และความเหมาะสมของตัวสินค้า ซึ่งการเลือกใช้สีให้เหมาะสมกับตัวแบรนด์ยังช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) ได้ด้วย ยืนยันด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโลโยลา แมรี่แลนด์ (Loyola University Maryland) ระบุว่า มากกว่า 80% สีช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์หรือตราสินค้า (Brand Recognition) ได้ดี ดังนั้นมาดูกันดีว่า สีแต่ละสีสื่อถึงอะไรบ้างในเชิงจิตวิทยาการตลาด

Color mixing wheels meanings properties tones combinations with explanations and circle schemes set infographic poster vector illustration

สีแดง: สื่อถึงพลังอำนาจ ความเร่งรีบ ความปรารถนา บางงานวิจัยพบว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นสีแดง จะช่วยกระตุ้นความดันและอัตราการเต้นหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหว ความรู้สึกตื่นเต้น และความต้องการ เหมือนเป็นปุ่มกดฉุกเฉินให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งทันที แบรนด์อาหารจานด่วน (Fast-Food) มักชอบใช้สีแดง

สีส้ม: เป็นการผสมผสานพลังจากสีแดงและความเป็นมิตรกับความสนุกจากสีเหลือง ทำให้ผู้บริโภคที่เห็นสีส้มเกิดความรู้สึกอบอุ่นทางกายภาพและจิตใจ และยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความมั่นใจต่อแบรนด์ เรามักจะเห็นสีส้มเกี่ยวข้องกับแบรนด์สินค้าหลากหลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เว็บไซต์ และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

สีเหลือง: ถือว่ามีความหมายใกล้เคียงกับสีส้ม แต่จะเน้นภาพลักษณ์ของผู้ที่มองโลกในแง่บวก มีความสุข ความร่าเริง มีความมั่นใจ ชัดเจน สีเหลืองเป็นสีที่โดดเด่นมองเห็นได้ง่าย (คุณรู้หรือไม่ว่าสีเหลืองเป็นสีแรกที่ทารกสามารถรับรู้ได้) โดยแบรนด์หรือสินค้าที่ใช้สีเหลืองมีหลากหลายเช่นเดียวกับสีส้ม ตั้งแต่รถยนต์ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ขนม และอาหาร

สีเขียว: แน่นอนว่าสีเขียวสื่อถึงธรรมชาติ ชีวิต ความสงบ การเติบโต หากสินค้าหรือแบรนด์ของคุณเกี่ยวข้องกับสุขภาพและการพักผ่อน หรือต้องการสร้างบรรยากาศรักษ์โลก สีเขียวถือเป็นตัวเลือกแรก ๆ  ซึ่งแบรนด์ที่มักใช้สีเขียว เช่น แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่มีนโยบายลดโลกร้อน โรงแรม แอปพลิเคชั่นเพลงออนไลน์ และเครื่องดื่ม        แอลกอฮออล์

สีฟ้า: แบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการแสดงถึงความเชื่อมั่น ความไว้วางใจควรใช้สีฟ้า เพราะสีฟ้าเป็นหนึ่งในน้อยสีที่กระตุ้นความรู้ทางจิตใจมากกว่ากายภาพ อย่างไรก็ตามสีฟ้าเป็นสีที่ผู้บริโภคมักมองไม่ค่อยเห็น และให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แบรนด์ที่ใช้สีฟ้าส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับโรงพยาบาล ยิม สถาบันการเงิน รวมถึงแบรนด์    โซเชียล เน็ตเวิร์ก เนื่องจากสีฟ้ายังหมายถึงความเฉลียวฉลาดและการสื่อสารด้วย

สีม่วง: ถ้าเป็นเรื่องจินตนาการ ความหรูหรา ลึกลับ ให้เลือกใช้สีม่วง แบรนด์ที่ต้องการให้เกิดความสงสัยใคร่รู้สามารถใช้สีม่วงบนตัวอย่างผลิตภัณฑ์และป้ายโฆษณาก่อนวางจำหน่าย ส่วนใหญ่เรามักพบสีม่วงเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทความงาม และสินค้าสำหรับผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเพศหญิงมักมีอยากรู้อยากเห็น เช่นเดียวกับเด็ก ๆ

สีชมพู: มักถูกจำกัดความให้เป็นสีสำหรับเพศหญิง เพราะสีชมพูสื่อถึงความอ่อนโยน ความเข้าอกเข้าใจ และความรัก ในปัจจุบันส่วนใหญ่แบรนด์หรือสินค้าที่ใช้สีชมพูจะเป็นแบรนด์ของเล่นเด็กผู้หญิง แบรนด์สำหรับผู้หญิง ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

สีน้ำตาล: ไม่ใช่สีสำหรับแบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการความโดดเด่นมากนัก แต่เหมาะสำหรับแบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความปลอดภัย ความแข็งแกร่ง และการคัดสรรมาแล้วอย่างดี ดังนั้นเรามักจะเห็นสินค้าประเภทช็อกโกแลต เครื่องหนัง แม้กระทั่งผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เลือกใช้สีน้ำตาลบนโลโก้ของตัวเอง

สีดำ: เป็นสีที่พบเห็นได้ทั่วไป อยู่ในรายละเอียดของโลโก้หรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพราะสีดำสื่อถึงความช่ำชอง อิสระ ความมั่นใจ ความฉลาด หรูหรา และความแข็งแกร่ง สีดำเป็นสีที่ต้องระวังในการใช้ เพราะหากใช้สีดำมากเกินไปอาจสร้างความรู้สึกไม่ดี แบรนด์สินค้าไฮเอนด์ส่วนใหญ่จะใช้สีดำบนโลโก้ ซึ่งมักจะเป็นตัวอักษร มีพื้นที่ให้สีขาวมาตัด

สีขาว: หมายถึงความบริสุทธิ์ อ่อนโยน สะอาด สงบ ปลอดภัย และธรรมชาติ แต่การเลือกใช้สีขาวเพียงอย่างเดียวมักทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ หากเป็นโลโก้มักใช้สีอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะการนำสีขาวและสีแดงมาใช้บนโลโก้เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือสีขาวกับสีดำ เป็นต้น

2เครดิตภาพ: KISSmetrics

ทั้งนี้การเลือกใช้สีในการสื่อสารการตลาดต้องคำนึงว่า มนุษย์อาจมีความรู้สึกและการรับรู้ต่อสีแต่ละสีแตกต่างกัน ขึ้นกับประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ยกตัวอย่าง บางคนชอบสีเหลือง บางคนไม่ชอบสีดำ เพราะเป็นสีโปรดของคนที่ตัวเองไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกต่อสีต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม “สี” ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภค และแสดงจุดยืนของแบรนด์ ดังนั้นหากคุณเป็นนักการตลาดหรือนักออกแบบ อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องสี อย่างน้อยตามทฤษฎีความหมายสีด้านบนก็ได้

ผู้เขียน

คุณสุดาภรณ์ โอบอ้อม

เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย


เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส

ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส  (IPG Mediabrands) คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน


อ้างอิง

Hauff, 2018: https://coschedule.com/blog/color-psychology-marketing/

Bailey, 2019: https://www.thoughtco.com/color-psychology-and-human-behavior-4151666

Hagen, 2019: https://www.insights4print.ceo/2019/02/color-increases-brand-recognition-by-80-the-real-contents-of-the-loyola-study-revealed/

Morton, 2019: https://www.colorcom.com/research/why-color-matters

Burst, 2021: https://smallbiztrends.com/2014/06/psychology-of-colors.html

Plack, J. J., & Shick, J. (1974). The effects of color on human behavior. Journal of the Association for the Study of Perception, 9(1), P.4–16.

Singh, S. (2006), “Impact of color on marketing”, Management Decision, 44 (6), P.783-789.

Shi, Tommy (2013). “The Use of Color in Marketing: Colors and Their Physiological and Psychological Implications”. Berkeley Scientific Journal, 17(10), P.1-6.