หน้าแรกBRANDING & INNOVATIONBrand StrategyThe Black Swan หงส์ดำ สัญลักษณ์ของการคิดวิเคราะห์แบบบูรณาการ (ตอนจบ)

The Black Swan หงส์ดำ สัญลักษณ์ของการคิดวิเคราะห์แบบบูรณาการ (ตอนจบ)

จากตอนที่แล้ว บทความครึ่งแรกจบด้วยคำถามว่า “มีมุมมองหรือเรื่องราวอะไรบ้างที่ถือว่าเข้าข่ายแนวคิด Black Swan ?” อย่างที่ได้กล่าวไป Black Swan คือสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิด แต่เมื่อสิ่งนั้นปรากฏขึ้น กลับสามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

ถ้าเรานำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ก็อาจช่วยให้เราได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น บางคนตรวจสุขภาพเป็นประจำไม่เคยพบอาการผิดปกติเลย แต่การตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด แพทย์ตรวจเจอมะเร็ง ซึ่งการตรวจเจอมะเร็งนี้เป็นข้อมูลที่ไม่คาดคิดมาก่อน ในหนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ของ Nassim Nicholas Taleb เรียกการตรวจเจอมะเร็งว่า เข้าข่ายเป็น Black Swan ทางลบ

ขณะที่ตัวอย่าง Black Swan ทางบวก เช่น การสิ้นสุดทศวรรษ 1980 ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยแห่ง “สงครามเย็น” ระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การสิ้นสุดสงครามเย็นนี้ ในทางกลับกันทำให้ผู้คนบนโลกหายใจได้ทั่วท้อง ปราศจากความวิตกกังวล ความหวาดกลัว เนื่องจากความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งการสิ้นสุดสงครามเย็นทำให้มีประเทศใหม่เกิดขึ้น 15 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย, ยูเครน, อาร์เมเนีย, เบลารุส, จอร์เจีย, มอลโดวา, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, คีร์กิซสถาน, ทาจิกิสถาน, อาเซอร์ไบจาน, เอสโตเนีย, แลตเวีย และลิธัวเนีย ซึ่งประเทศเหล่านี้แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ขณะที่เศรษฐกิจและการค้ากลับมาคึกคัก เพราะกลุ่มนักลงทุนไม่ต้องกังวลถึงเรื่องสงครามอีกต่อไป

Character illustration of people holding creative ideas icons

การตรวจพบมะเร็งและการยุติสงครามเย็นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ทั้ง 2 เรื่องนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดหรือคาดการณ์มาก่อน Black Swan จึงมีความน่าสนใจในตัวของมันเอง ทำไมเราจึงมองไม่เห็นหรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์แบบ Black Swan นี้เกิดขึ้นกับเราทุกวัน สาเหตุที่เรามองไม่เห็น Black Swan ซ่อนอยู่ แม้ตัวเราจะอยู่ในที่โล่งและมีแสงสว่างก็ตาม สามารถสรุปได้ว่า

1. คนเราคุ้นเคยกับความคิดแบบใช้สัญชาตญาณมากกว่าการครุ่นคิดใคร่ครวญ

Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2002 และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Thinking, Fast & Slow บอกว่า มนุษย์มีกระบวนการคิดอยู่ 2 ระบบ

ระบบแรก – เป็นการคิดแบบใช้สัญชาตญาณที่รวดเร็วและใช้พลังงานในการคิดน้อย หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “ใช้ความรู้สึก (เซ้นส์)”

ระบบที่สอง – เป็นการคิดด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่เชื่องช้า ใช้เวลานาน และใช้พลังงานมากกว่า

เนื่องจากเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรามักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในรูปแบบเดิม ๆ เราจึงเลือกที่จะใช้กระบวนการคิดระบบแรก คิดและทำจากความรู้สึก จนเราเคยชินและไว้ใจในสัญชาตญาณของเราเอง แต่หลายครั้ง ถ้าเราเชื่อสัญชาตญาณความรู้สึกมากไป เราอาจมองข้ามความจริงที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้

2. เราชื่นชอบในการตีความที่เข้าใจง่าย มีคำอธิบายชัดเจน จนทำให้เราพลาดและหลงลืม รายละเอียดอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องไป ทำให้เราอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้นนั้น ดูง่ายกว่าความเป็นจริง เพราะสมองคนเราไม่สามารถประมวลข้อมูลข่าวสารที่ซับซ้อนและไร้แบบแผน ซึ่งเข้ามาในเวลาเดียวกันภายในช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ดังนั้นสมองจึงลดทอนความซับซ้อนของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จนทำให้เราเคยชินที่จะมองโลกซึ่งมีความซับซ้อนไร้ระเบียบห่างไกลจากความเป็นจริง

3. เราใส่ใจและให้น้ำหนักกับเรื่องราวที่กระตุ้นเร้าอารมณ์มากกว่าเรื่องราวแบบอื่น เป็นที่สังเกตว่า หลังจบการเลือกตั้งทุกครั้ง สำนักข่าวเกือบทุกสำนักจะออกมาอธิบาย “เหตุผล” ที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ พร้อมข้อมูลสถิติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนคำอธิบายเหล่านั้นชนิดที่เห็นได้ชัดว่าพวกเขาพร้อมจะ “ผิดพลาดอย่างแม่นยำ” และไม่สนใจความ “ถูกต้องอย่างคร่าว ๆ” การพยายามสรรหาคำอธิบายจนเกินเลยของสำนักข่าวเหล่านี้ เป็นไปเพื่อตอบสนองความสนใจของผู้บริโภค เพราะสำนักข่าวเชื่อว่า คนเสพข่าวสนใจเนื้อเรื่องมากกว่าข้อเท็จจริง เมื่อเรา “ลำเอียง” กับเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผล หรือเรื่องราวที่หวือหวา เราอาจตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย

เหตุปัจจัย 3 ข้อข้างต้นนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านทราบว่า ทำไมเราถึงมองไม่เห็น เจ้าหงส์ดำ ทั้ง ๆ ที่เงาของมันอาจทอดยาวอยู่ข้าง ๆ ตัวเราตลอดเวลา ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะตัดสินใจลงมือทำสิ่งใดในชีวิตประจำวัน ขอให้ผู้อ่านลองเริ่มมองหาเจ้าหงส์ดำนี้ด้วยการคิดแบบบูรณาการซึ่งจะช่วยให้เราพิจารณาและลงมือปฏิบัติอย่างรอบคอบ ลดความผิดพลาดต่อตัวเราและคนรอบข้าง แม้โลกนี้จะมีความซับซ้อนวุ่นวายมากมาย และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อใดที่เรามองอย่างพินิจพิเคราะห์จนสามารถเห็นเจ้าหงส์ดำได้ รางวัลคือผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน


 

ผู้เขียน

การพลิกวิกฤตให้เก่งและแกร่งกว่าที่เคย-1

คุณภัทรพร วงศ์มีศักดิ์

กรรมการผู้จัดการ, ยูเอ็ม ไธรฟว (UM Thrive)  ประเทศไทย

 

เกี่ยวกับ ยูเอ็ม ไธรฟว ประเทศไทย

ยูเอ็ม ไธรฟว เป็นมีเดียเอเยนซี่ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เราให้บริการด้วยปรัชญาการผสานศาสตร์และศิลป์ เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า ด้านศาสตร์ เราใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Business Analytics) และยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก (Data Intelligence) แบบเรียลไทม์ ด้านศิลป์ เราสร้างช่วงเวลาที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ เป็นที่จดจำผ่านสื่อทุกประเภท ยูเอ็ม ไธรฟว เป็นมีเดียเอเยนซี่ที่อยู่ภายใต้ ยูเอ็ม ในเครือไอพีจี มีเดียแบรนด์ส

ข้อมูลบางส่วนจากบทความนี้นำมาจาก

https://anontawong.com/2020/05/16/black-swan-4/

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments